วันนี้ ( 3 ก.ค.) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงขั้นตอนการเสนอร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีจากการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ว่า จะต้องผ่านกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (เฮียริ่ง) ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน ดังนั้น กำหนดเวลาที่จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาในระดับนโยบายจึงต้องเลื่อนออกไป แต่มั่นใจว่าจะเสนอร่างกฎหมายให้ระดับนโยบายพิจารณา ภายในเดือน ก.ค.นี้
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย คือ ธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจ บนวัตรกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในไทยให้ถือว่า มีสถานประกอบการในไทยเข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในไทย
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษี e-Business ขณะนี้มีการปรับปรุงให้มีเพดานอัตราการจัดเก็บสูงสุดที่ร้อยละ 15 ของเงินได้ที่จ่าย จากเดิมที่มีแนวคิดจะจัดเก็บร้อยละ 5 ของเงินได้ที่จ่าย โดยอัตรานี้จะอิงตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร ซึ่งจะมีหลายอัตราขึ้นอยู่กับประเภทธุรกรรม ซึ่งในร่างกฎหมายจะมีการแยกประเภทของธุรกรรมที่จะมีการจัดเก็บไว้อย่างชัดเจน และจะมีข้อยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้
ทั้งนี้ การจัดเก็บดังกล่าวก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ โดยเฉพาะผู้เสียภาษีที่อยู่ในไทย เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจเหล่านี้ไม่เสียภาษี ดังนั้นจึงต้องวางแนวทางเก็บ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ
ขณะที่ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตลาดดอทคอม และนายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีจากอี-คอมเมิร์ซ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการ เพื่อให้การทำธุรกิจการค้าออนไลน์เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะมาเข้าระบบการเสียภาษีด้วยตนเอง แทนที่จะใช้มาตรการบังคับรุนแรง