ถ้าไม่เล่นใหญ่ ก็คงผิดคอนเซ็ปต์เวที "มิสแกรนด์ไทยแลนด์" ทำให้สีสันการประกวดรอบชุดประจำจังหวัดปีนี้ ยิ่งแปลกเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้ใจกรรมการ ส่วนหนึ่งเพราะจับทางได้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่านี่เป็นรอบที่เรียกกระแสได้ในโซเชียล ก็ตรงกับเวทีนี้ที่ชอบเรื่องกระแส แข็งแรงกว่าใครต้องนางงาม "ประจวบคีรีขันธ์" ที่แบกชุด "สุวรรณนพคุณ" หนักถึง 50 กิโลกรัม แต่ไม่วายเจอดราม่า เพราะส่วนของหลังคาชุดที่จำลองมาจาก "พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์" สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด ถูกมองว่าไม่เหมาะสม เพราะอยู่ต่ำกว่าส่วนเอวของนางงาม จนต้องแก้ไขแบบเร่งด่วนก่อนขึ้นเวที
ขายแปลกก็จริง แต่หัวใจของรอบนี้ คือการดีไซน์ชุดให้ร่วมสมัย และสร้างสรรค์ เช่น ชุด "ปันนคนาสน์อินทรีย์" จาก จ.กระบี่ บอกตัวตนคนปักษ์ใต้ผ่านชุดที่ผลิตจากยางพาราทั้งชุด ซึ่งดีไซเนอร์ตั้งใจให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ราคายางตกต่ำ เพื่อทำให้เห็นว่าหากมีความคิดสร้างสรรค์ ก็เพิ่มมูลค่าให้ยางพาราได้ แต่ถ้าถามว่าชุดไหนที่สมกับคำว่า "สร้างสรรค์" จริงๆ คือชุด "สู่สันติสุข" ของสาวงามจาก จ.ปัตตานี ไม่ธรรมดาก็ตรงวิธีการพรีเซ็นต์ เมื่อนางงามปรากฏตัวในผ้าคลุมที่พิมพ์ลายอาวุธ และพาดหัวข่าวความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนถอดผ้าคลุมออกเป็นชุดนกพิราบสีขาว สื่อถึงสันติสุข ใช้ชุดเป็นเสียงจากแดนไกล สะท้อนอีกด้านว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้มีเพียงความรุนแรง
หนึ่งในกระแสที่เวทีมิสแกรนด์ชูเป็นจุดขายปีนี้ คือการปรับรูปแบบการคัดเลือกนางงาม โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจซื้อลิขสิทธิ์เป็นผู้อำนวยการกองประกวด และจัดเวทีในจังหวัดของตัวเอง แต่กระแสที่คาดหวังกลับกลายเป็นดาบสองคม หลังมีข่าวการปลดนางงามไม่ต่ำกว่า 4 จังหวัด รวมถึงผู้อำนวยการกองประกวด ซ้ำร้ายยังมีการออกมาแฉกันไปมา ทั้งเรื่องการล็อคมง ให้ตำแหน่งนางงามที่ไม่ได้มาจากจังหวัดนั้นๆ ไปจนถึงการฉีกสัญญา แอบไปประกวดเวทีอื่น จนเกิดดราม่ารายวัน ซึ่งปีต่อๆ ไปก็ต้องหาทางป้องกัน ไม่ให้กระทบภาพลักษณ์เวที
ส่วนการใช้คำว่ารอบการประกวดชุดประจำจังหวัด เพราะยังต้องคัดเลือกชุดที่ดีที่สุดจาก 77 จังหวัด ให้เหลือเพียง 10 ชุดเท่านั้น แล้วจะไปตัดสินกันวันจริง โดยจะมีเพียง 5 ชุดสุดท้ายของนางงามจาก 5 จังหวัดที่ได้ไปต่อ เพื่อนำไปต่อยอดอวดโฉมบนเวทีระดับสากลต่อไป