วันนี้(11 ก.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 โดยหนึ่งในพื้นที่ชุมชนกลางทะเล และเป็นจุดท่องเที่ยวใน จ.พังงาคือ เกาะปันหยี
บ้านเรือนชาวเกาะปันหยี จำนวน 320 ครอบครัว หรือ กว่า 1,600 คน ถูกปลูกสร้างรอบๆเกาะกลางทะเล บนเนื้อที่เพียง 1 ไร่ เศษ ในต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา
ชาวบ้านที่นี่ เริ่มเกิดความวิตกกังวล หลังทราบข่าวจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2560 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2560 โดยให้ผู้ครอบครองสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำน่านน้ำ รวมทั้งผู้อาศัยอยู่ริมทะเล ในพื้นที่ป่าชายเลน ผู้ประ กอบการอาชีพประมงชายฝั่ง ผู้เลี้ยงปลากระชัง ไปขึ้นทะเบียนที่กรมเจ้าท่าและต้องจ่ายค่าปรับ ซึ่งชาวเกาะปันหยี จะได้รับผลกระทบโดยตรง
ชาวบ้านบอกว่า รู้สึกวิตกกังวลต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านอาศัยมานานกว่าที่จะมีกฏหมายออกมา จึงอยากขอความเห็นใจให้ได้รับการยกเว้น เพราะที่ผ่านมาต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าสูงบนฝั่งถึง 3 เท่า อยู่แล้วหากต้องนำเงินไปจ่ายค่าปรับอีก จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่ง
นายเจริญ ศรีทอง ชาวเกาะปันหยี จ.พังงา บอกว่า บรรพบุรุษของชาวเกาะปันหยี ได้อพยพล่องเรือมาจากประเทศอินโดนิเซีย และอาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆแห่งนี้มาเกือบ 300 ปี ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยออกมาเรียกร้องปัญหาที่ทำกินหากต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่า จะมีปัญหาตามความผิดมาตรา 17 ทันที
มูฮำหมาด ประสานพันธ์ กำนันตำบลเกาะปันหยี จ.พังงา กำนันตำบลเกาะปันหยีบอกว่า ทุกครอบครัวต้องจ่ายค่าปรับตารางวาละ 500 - 10,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ดังกล่าว
เกาะปันหยี ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน แบ่ง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่บ้านท่าด่าน บ้านเกาะปันหยี บ้านเกาะไม้ไผ่ และหมู่บ้านเกาะหมากน้อย ทั้งหมดล้วนได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย
เนื่องจากตั้งอยู่ในทะเลอ่าวพังงา และบริเวณป่าชายเลนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีประชากรทั้งหมด กว่า 4,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เหลือร้อยละ 2 นับถือศาสนาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านประมงเป็นหลัก