เครื่องบินขับไล่ฝึกสัญชาติเกาหลีใต้ T-50 TH ที่ ครม.เพิ่มอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง วงเงินเกือบ 9,000 ล้านบาท ถูกตั้งข้อสังเกตล่าสุดเชื่อมโยงกับการรจัดซื้ออาวุธของทั้ง 3 เหล่าทัพ ต่อเนี่องช่วง 3 ปีรัฐบาล คสช.มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท แม้จะมีคำอธิบายถึงความจำเป็นทั้งทดแทนเครื่องเก่าที่ไม่ตอบสนองกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบรับกับยุทโธปกรณ์ใหม่อย่างกริพเพนของกองทัพอากาศและเป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพ แต่ก็มีคำถามจาก รศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ภาพรวมการซื้ออาวุธของกองทัพไทยตอบโจทย์ แผนพัฒนากองทัพจริงหรือไม่ ที่สำคัญแผนพัฒนากองทัพของไทยมาถูกทางแล้วหรือยัง แม้สถานการณ์โลกในปัจจุบัน จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามซึ่งจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศก็ตาม
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า การจัดซื้ออาวุธเป็นปัจจัยหนึ่งของการปรับโครงสร้างกองทัพเพื่อรับมือภัยคุกคาม โดยยึดตามแผนพัฒนากองทัพ 10 ปี เป้าหมายสู่การเป็นกองทัพชั้นนำในภูมิภาค ไม่ใช่การช้อปปิ้งอาวุธ
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา 3 เหล่าทัพ จัดซื้ออาวุธรวมเป็นมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท ปี 2558 กองทัพบก จัดซื้อรถถังแบบ VT-4 จำนวน 28 คัน วงเงิน 4,985 ล้านบาท ปี 2560 จัดซื้อชุดที่ 2 อีก 10 คัน มูลค่า 2,017 ล้านบาทจากจีน โดยคาดกว่า VT-4 ชุดแรกจะมาถึงไทยปลายปีนี้ และมีแผนจะจัดซื้อรถถัง VT-4 อีก 11 คัน ให้ครบ 49 คัน รวมทั้งยังได้จัดซื้อรถเกราะล้อยางVN-1 34 คัน จากจีน วงเงิน 2,300 ล้านบาท เนื่องจาก VN-1 ตอบโจทย์ด้านส่งกำลังบำรุงมากที่สุด เมื่อเทียบกับตัวเลือกประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ในปี 2559 กองทัพบกได้จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียง รุ่น Mi-17V5 จากรัสเซีย 6 เครื่อง และมีแผนจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์คต่อเนื่อง 4 เครื่อ ขณะที่กองทัพเรือ ฝ่ากระแสวิจารณ์สำเร็จ ผ่านโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ แบบs 26 t 3 ลำ จากจีนแบบรัฐต่อรัฐ มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยเริ่มจัดซื้อลำแรกในงบประมาณ 2560 วงเงิน 13,500 ล้านบาท ผ่อนชำระ7ปี และทยอยจัดซื้อจนครบ 3 ลำในช่วง 3 ปี โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมยืนยันว่า ทั้งหมดไม่ได้เพิ่งอนุมัติในรัฐบาล คสช.แต่เป็นโครงการต่อเนื่องในช่วง 10 ปีตามแผนพัฒนากองทัพ