วันนี้(18 ก.ค.2560) นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาฉบับที่ 22 "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน โดยจะมีผลกระทบจนถึงวันที่ 19 ก.ค.นี้ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศเมียนมา
ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีผลกระทบตามภาคต่างๆ ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค.นี้ในพื้นที่ ภาคเหนือ มีภาคกลาง และด้านรับลมมรสุมยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ตามภาคต่างๆดังนี้ ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร
ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กในทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
"ตาลัส”ฝนตกน้ำท่วมภาคเหนือ-ระบายน้ำเจ้าพระยา
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ที่จ. อุตรดิตถ์เกิดน้ำป่าไหลเข้าท่วมที่บ้านน้ำต๊ะ น้ำรี หมู่ที่ 6 และ บ้านทรายงาม หมู่10 ต.น้ำหมัน อ.ท่าปลา กระแสน้ำที่ไหล สะพานข้ามหมู่บ้านเสียหาย นอกจากนั้นยังมีพืชผลทางการเกษตรเสียหายอีกกว่า 100 ไร่ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนแล้ว แจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตราย เพราะฝนยังตกต่อเนื่องอาจเกิดน้ำป่าได้
เช่นเดียวกับที่จ.แพร่ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หลังมีฝนตกลงติดต่อกันหลายวัน เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนได้ พร้อมเตือนผู้ที่สัญจรบนถนนสายต่างๆให้ระวังอันตรายเพราะอาจเกิดถนนลื่นจนประสบอุบัติเหตุได้
ด้าน พล.ต.อิทธิพล สุวรรณรัตน์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 13 จังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่ ตรวจสถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท โดยนายพงษ์ศักดิ์ อัครมณี หัวหน้าฝ่ายจัด สรรน้ำ สำนักชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา รายงานว่าจากสถานการณ์ฝนที่ตกในพื้นที่ ท้ายเขื่อนใหญ่ทางภาคเหนือ ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ทำให้น้ำจากแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณมาก
ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือพายุตาลัส ที่อาจจะทำให้มีฝนตกหนัก เขื่อนเจ้าพระยา จึงต้องเพิ่มการระบายน้ำ เป็น 1,800 - 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เจ้าหน้าที่จะควบคุมการระบายน้ำไม่ให้เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตร เพราะการระบายน้ำจะทำให้จังหวัดที่อยู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเขตท้องที่ อ.บางบาล เสนา ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา อ.ไชโย และอ.ป่าโมกข์ จ.อ่างทอง อาจจะได้รับผลกระทบ