วันนี้(19ก.ค.2560) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ทำประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Business เรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะเสนอให้กระทรวงการคลังเห็นชอบได้ภายในเดือนนี้
สำหรับการออกกฎหมายครั้งนี้ กรมสรรพากรต้องการแก้ปัญหาช่องว่างการเก็บภาษีจากสื่อออนไลน์ เช่น ยูทูป กูเกิลไลน์ และเฟซบุ๊ก เนื่องจากกฎหมายปกติที่มีอยู่ไม่สามารถเก็บภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นในไทยได้ และการออกกฎหมายนี้ จะทำให้เป็นธรรมในระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งการแก้กฎหมายครั้งนี้ หากทำได้สมบูรณ์ก็จะทำให้การเก็บภาษีของกรมสรรพากรตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังตรวจสอบการเสียภาษีอี-คอมเมิร์ซ ของผู้ประกอบการไทยทั้งบุคคลธรรมและนิติบุคคลที่มีอยู่ประมาณ 800,000 ราย ซึ่งดำเนินการตามกฎหมายปกติที่มีอยู่ ซึ่งการดำเนินการระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ที่ให้การชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ และการจ่ายชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิต จะช่วยให้เก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนกรณีการออกกฎหมายประมวลรัษฎากร ในการเอาผิดทางอาญาจำคุก กับผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งเดิมกรมสรรพากรจะลงโทษ เพียงให้ผู้เสียภาษีนำภาษีมาชำระให้เต็มจำนวนเท่านั้น
จับตา"กลุ่ม SME" เลี่ยงภาษีโทษหนักจำคุก 7 ปี
สำหรับพฤติการณ์ที่ผ่านมากรมสรรพากร ตรวจพบว่าผู้เสียภาษี โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดทำบัญชีเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง ที่พบมาก คือการใช้ใบกำกับภาษีปลอมมาเป็นรายจ่าย เพื่อให้รายได้ลดลง นอกจากนี้ ยังพบรูปแบบการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีหลายวิธี เช่น การหาซื้อใบเสร็จสินค้าในราคาถูก เพื่อใช้ในการแสดงภาษีว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า ทั้งๆที่ไม่ได้ซื้อสินค้าจริง
สำหรับโทษอาญาที่กรมสรรพากรกำหนดคือ หากพบผู้เสียภาษีใช้ใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ จะได้รับโทษจำคุกถึง 7 ปี และรวมกันไม่เกิน 20 ปี และหากพบสำนักงานบัญชีมีส่วนร่วมในเรื่องการสนับสนุนดังกล่าวก็จะต้องโทษในลักษณะเดียวกัน
นอกจากจะกำหนดบทลงโทษอาญาแล้ว ขณะนี้กรมสรรพากร ยังอยู่ระหว่างการเตรียมระบบตรวจสอบ โดยจะใช้ระบบไอที เข้ามาช่วย ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงจากการเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการ