ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดบทลงโทษ “เก็บเห็ด”ผิดกฎหมาย คุก 5 ปีปรับ 2 หมื่นบาท

สิ่งแวดล้อม
26 ก.ค. 60
18:54
13,372
Logo Thai PBS
เปิดบทลงโทษ “เก็บเห็ด”ผิดกฎหมาย คุก 5 ปีปรับ 2 หมื่นบาท
กรมอุทยาน เปิดบทลงโทษเก็บเห็ด หาของป่าความผิดเทียบคดีบุกรุก แผ้วถาง พื้นที่ป่าตามมาตรา16 (2) พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตรียมหาช่องทางจัดระเบียบใหม่ พบคนนอกแห่เก็บปีละหลายพันจนป่าแตก

วันนี้ (26 ก.ค.2560) นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่ากรณีที่มีชาวบ้านเก็บเห็ดถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ชาวบ้านที่ถูกจับไม่ใช่คนในท้องถิ่น ทางเจ้าหน้าที่อุทยานได้มีการปรับแล้วเพียง 100 บาท ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และได้ทำลายซากของกลางตามระเบียบ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีในส่วนที่จะส่งฟ้อง

ทั้งที่ความผิดตามมาตรา 16 (2) ของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ที่ระบุว่าการเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งยางไม้ น้ำมันยาง น้ำมันแร่ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น มีบทลงโทษในมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

แต่หากอิงตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 (3) ยึดถือครอบครองที่ดิน หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา ทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น หรือขุดหาแร่ ดิน หิน หรือเลี้ยงสัตว์ หรือเปลี่ยนแปลงทางน้ำ บทลงโทษตามมาตรา 54 ต้อองระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัญหาการเก็บหาของป่าไม่ใช่แค่กรณีเก็บเห็ด เป็นความกังวลของเจ้าหน้าที่ว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่น ที่ผ่านมา กรมอุทยาน สั่งการเกือบเป็นนโยบาย ให้ทุกพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน สามารถอธิบายว่าพื้นที่ใดหวงห้าม พื้นที่ใดเป็นกันชน มีการสร้างขอบเขตกับชุมชนมาระดับหนึ่ง มีคนหลายกลุ่มอยากมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตรงนี้ เป็นไปได้ว่าคนที่มาจากไกลๆไม่ทราบข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชนตรงนั้น

 

 

คนนอก สวมรอยจับจองราคาจูงใจ 

นายสมโภชน์ บอกว่า ขณะนี้เป็นฤดูกาลเก็บของป่ามีคนมาในพื้นที่เยอะมากบางปี บางแห่งมีคนเข้าไปทีละ 100 คนต่อวัน หรือมากสุดเป็นพันคน หากลองคำนวณง่ายๆว่าครอบครัวหนึ่งเก็บเห็ดคนละ 5-10 กิโลกรัมจะมีเห็ดป่าที่ถูกเก็บในแต่ละปีมากแค่ไหน  ที่ทราบจากชุมชน คือ ไม่ใช่คนที่อยู่ตรงนั้น มีคนที่อยู่ชุมชนอื่นมาเก็บของป่าด้วยเหมือนกัน ป่าที่พูดถึง คือ มีชุมชนทั้งในและนอกท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ โดยไม่มีกฏกติกา  ชุมชนเองก็ไม่สบายใจ วิธีการเก็บ บางคนใช้เครื่องมือขุดเห็ดจากใต้ดิน ทำให้จาวแตก หมายถึงที่ที่เคยเกิดเห็ดในอนาคตจะไม่เกิด การเก็บแบบนี้ คือ การทำลาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจับจองตำแหน่งมักจะเจอเห็ดขึ้นเป็นประจำ เขียนป้ายจอง และเร่งให้เห็ดเป็นดอกขึ้นมาก่อนระยะที่เก็บได้  

ส่วนบุคคลที่เข้าไปไม่ได้มีเฉพาะคนที่เก็บเพื่ออยู่เพื่อกิน มีคนอีกกลุ่มเก็บเพื่อการค้า ที่ต้อง การปริมาณมาก ชุมชนก็ไม่สามารถเก็บเพื่ออยู่เพื่อกินได้ และเป็นการทำลายทรัพยา กรธรรมชาติ บางทีคนอื่นอาจจะมองไม่เห็น ในฐานะเจ้าหน้าที่คำนึงหลายเรื่อง ไม่ใช่แต่เรื่องต้นไม้ รวมถึงผลกระทบต่อสัตว์ป่า หรือขยะที่ทิ้งไว้

โดยราคาเห็ดที่ได้รับความนิยมในช่วงหน้าฝนคือ เห็ดโคน จะมีราคาจากหน้าป่าเฉลี่ย 200-300 บาท แต่หากไปขายในเมืองราคาจะเพิ่มขึ้นอีก รองมาเป็นพวกเห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก และเห็ดตามท้องถิ่นนั้น 

 

 

ชงแก้กฎหมายผ่อนปรน "เก็บหาของป่า"

 

ทางกรมก็กังวลกับเรื่องนี้ มากจนถึงขั้นจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ โดยพ.ร.บ.ใหม่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และพ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พูดเรื่องนี้ชัดว่าทำอย่างไรชุมชนถึงมาเก็บของป่า ชนิดที่ทดแทนได้ในธรรมชาติ กฏหมายที่จะแก้มองถึงชุมชนท้องถิ่นที่ใกล้เคียง จะคุยกันว่าเก็บตรงไหน เก็บเท่าไหร่ หรือเก็บอะไร

เนื่องจากว่าทางกฏหมายไม่ได้อนุญาตไว้เลย ปัจจุบันยังมีพื้นที่ผ่อนปรน ให้เก็บเพื่ออยู่ เพื่อกิน หรือ ชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น ปลูกป่า มาดูและพื้นที่ ทางกรมอุทยานได้ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ ป่าชุมชน เป็นอีกหนึ่งทางออก ถ้าชาวบ้านดูแลป่าอย่างดี เชื่อว่าของป่าเหล่านี้สามารถเลี้ยงดูชุมชนได้เช่นกัน โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และวางเป้าหมายว่าจะต้องคลอดกฎหมายใหม่นี้ภายในสิ้นปีนี้ 


เขาบอกว่า ภารกิจหลัก คือ ทำอย่างไรจะให้คุ้มครองทรัพยากร ให้อยู่ยันลูกหลาน เข้าใจว่าป่า เป็นที่พึ่งของชุมชน แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่ให้ใช้ประโยชน์ได้ หลายๆที่มีกติกาใช้ของป่าให้ยั่งยืน กรมอุทยานให้ความสำคัญกับชุมชนค่อนข้างมาก เราจะพูดเสมอว่าไม่ให้ชุมชนท้องถิ่น หรือ คนจนได้รับผลระทบ เจ้าหน้าที่ทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ชุมชนกับรัฐอยู่อย่างมีความสุข

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง