วันนี้ (27 ก.ค.2560) นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่าเนื่องในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ซึ่งตอนนี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีพนักงานพิทักษ์ป่าทั่วประเทศ 15,000 คน ดูแลผืนป่าอนุรักษ์ 102 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีบุคลากรเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 5,000 คน ที่ปฏิบัติงานลาดตระเวน มีความเสี่ยงชีวิต จากการปะทะกับผู้กระทำผิดกฎหมาย ส่วนผู้พิทักษ์ป่าที่เหลือ ส่วนใหญ่ถูกให้ปฏิบัติงานหน้าที่อื่น ทำให้ประสิทธิภาคในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ไม่ทั่วถึง และยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
เปิดรายได้ลูกจ้างผู้พิทักษ์ยังไม่ถึง 1 หมื่นบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้พิทักษ์ป่ามีทั้งลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวในลักษณะพนักงานจ้างเหมา ต่อสัญญาปีต่อปี ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้พิทักษ์ป่า เป็นพนักงานจ้างเหมามากถึงร้อยละ 92 จากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด มีรายได้เพียงเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งยังไม่มีความมั่นคง ส่วนลูกจ้างประจำมีรายได้ 9,400 – 21,010 บาทต่อเดือน และพนักงานราชการ รายได้ 11,280 – 24,930 บาทต่อเดือน
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้ภารกิจของผู้พิทักษ์ป่า จะไม่แตกต่างกัน แต่การจ้างงานที่ต่างกัน ส่งผลต่อรายได้และความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงอันตรายในงานลาดตระเวนที่อาจต้องเผชิญเหตุปะทะได้ตลอดเวลา จึงเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งกองทุนของของมูลนิธิสืบนาคเสถียรที่ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2533 เพื่อช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าเบื้องต้นในกรณีที่ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่
หนุนกรมอุทยาน ตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า
“ตลอด 17 ปี ของการมีกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ ได้ช่วยเหลือครอบครัวผู้พิทักษ์ป่าที่เสียชีวิตแล้ว 99 คน บาดเจ็บ 72 คน และยังสนับสนุนทุกนการศึกษาด้วย แต่มูลนิธิสืบฯ ก็เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆที่ช่วยผู้พิทักษ์ป่เท่านั้น ยังขาดแรงเสริมของภาครัฐ ที่จะใช้กลไกของกองทุนต่างๆมาช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า ให้มีสวัสดิภาพมากขึ้นในการทำงานบนความเสี่ยงด้วย” ภานุเดช กล่าว ทั้งนี้ เสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติ ควรบริหารบุคลากรในตำแหน่งงานของพนักงานพิทักษ์ป่า ให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงตามตำแหน่ง โดยไม่โยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งไปทำงานอื่น นอกเหนือจากหน้าที่หลัก คือ งานลาดตระเวนป้องกัน ดูแลผืนป่าและสัตว์ป่า
นอกจากนี้ ควรมีนโยบาย งบประมาณสนับสนุน และโครงสร้างบุคลากรของหน่วยงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนที่อยู่ประชิดหรือตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควร ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานอย่างเพียงพอและเหมาะสม อย่างอาวุธที่ใช้ป้องกัน และรัฐควรปรับปรุงสวัสดิภาพ สวัสดิการ รวมถึงพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ของผู้พิทักษ์ป่าอย่างเหมาะสมกับภารกิจปกป้องดูแลธรรมชาติ
3 ปีผู้พิทักษ์ป่าเสียชีวิต 36 คน
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานเตรียมตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อให้เป็นสวัสดิการในการดูแลเจ้าหน้าที่ โดยมีการจัดวิ่งเพื่อระดมทุนเพื่อตั้งกองทุน และวิ่งมาแล้ว 2 พื้นที่คืออุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญ จนบุรี อุทยานแห่งชาติอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และวันที่ 29 ก.ค.นี้จัดที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมาวันที่ 30 ก.ค.นี้
นายธัญญา บอกว่า จากสถิติมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตระหว่างปี 2257 -2559 พบว่า เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บสาหัส 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย รวมทั้งหมด 75 ราย ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 พบว่า เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย รวมทั้งหมด 5 ราย พร้อม มอบโล่เกียรติคุณและเงินช่วยเหลือญาติของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียและได้รับบาดเจ็บขณะที่ปฎิบัติหน้าที่ 13 ราย และมอบเงินเข้ากองทุนผู้ทักษ์ป่า 2 กองทุน คือกองทุน สงเคราะห์เจ้าหน้าที่ประสบภยันตรายในการปฎิบัติหน้าที่กรมอุทยาน และกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถือเป็นกองทุนหลักสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ หรือทุพลภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำความดีและทำงานที่เสียสละ