วานนี้ (4 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการจัดอันดับประเทศเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง คืออยู่ในลำดับที่ 15 ของโลกจาก 165 ประเทศ
ข้อมูลนี้ได้รับการเปิดเผยระหว่างการสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 หัวข้อ สงครามไซเบอร์ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล การพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดขึ้น
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ระบุว่า ที่ผ่านมาโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับการระบาดของมัลแวร์เพทย่า ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยูเครน ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ ก็ใช้มัลแวร์ในการโจมตีโครงสร้างประเทศฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน ดังนั้นหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อียู สิงคโปร์มาเลเซีย จึงได้เตรียมหน่วยงานระดับชาติ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านความมั่นคงโดยมีผู้นำสูงสุดของประเทศ เป็นผู้บังคับบัญชา
สำหรับประเทศไทย ตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของภาคประชาชนได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระ โดด จากสถิติของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจโทรคมนาคมของ กสทช.ในปีที่แล้วพบว่ามีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 113 ล้านหมายเลข การเติบโตที่รวดเร็วขนาดนี้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยคุกคามด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว
แต่จากการประเมินความเสี่ยงจากหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU กลับพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ค่อนข้างสูง คืออยู่ในลำดับที่ 15 ของโลกจาก 165 ประเทศตามหลัง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเล เซีย ซึ่งขณะนี้ไทยร่วมมือกับหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น นอร์เวย์ และรัสเซีย ในการวางมาตรการป้องกัน แต่จากการประเมินมาตรฐาน 5 ด้านโดย ITU พบว่าไทยยังต้องปรับปรุงมาตรการป้องกันอีกมาก