วันนี้ (4 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อน ม.เกษตรศาสตร์ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ร่วมกันสำรวจพื้นที่สันเขื่อนของเขื่อนลำปาว เพื่อสังเกตความผิดปกติในช่วงฤดูฝน แต่จากการสำรวจบ่อสังเกตน้ำใต้ดินเขื่อนลำปาว พบว่ายังปกติไม่มีน้ำซึม
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อน ม.เกษตรศาสตร์ ยอมรับว่าการเก็บน้้ำที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เขื่อนวิบัติได้ เพราะก่อนหน้านี้เขื่อนลำปาว มีการเสริมสันเขื่อนด้านข้างให้มีความหนาขึ้นเพื่อรับน้ำได้มากแม้มีประตูระบายน้ำฉุกเฉิน
นายนริศ วงษ์เวช หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 8 เปิดเผยว่า วันนี้เขื่อนลำปาวมีน้ำ 1,662 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 84 และขณะนี้มีการระบายน้ำวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะแนวโน้มฝนในเดือนสิ่งหาคมน้ำจะเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องระบายน้ำออกเพื่อไม่ให้กระทบความปลอดภัยเขื่อน
“เดือนสิงหาคมน้ำจะต้องไหลมาอีกเฉลี่ยแล้ว 800 ล้านลบ.ม เดือนกันยายนอีก 800 ล้านลบ.ม.หากเราไม่ปล่อยน้ำ ระดับน้ำจะพุ่งสูงขึ้นเกินการควบคุม ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายหนักกว่านี้หลายร้อยเท่า” นายนริศ กล่าว
ขณะนี้เขื่อนทางภาคอีสานมี 265 เขื่อน และมีกว่า 100 แห่งที่มีน้ำเต็มเขื่อน ซึ่งมีความเสี่ยง เพราะฝนยังมีโอกาสตกหนักขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเขื่อนบอกว่า ถ้าไม่เร่งระบายน้ำออก อาจทำให้เขื่อนที่มีความเสี่ยงเสียหายเหมือนเขื่อนห้วยทรายขมิ้นในจังหวัดสกลนคร