ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดาบสองคม #คุณแม่วัยใสTheSeries

สังคม
11 ส.ค. 60
17:08
4,689
Logo Thai PBS
ดาบสองคม #คุณแม่วัยใสTheSeries
นักวิชาการ-แม่วัยใส วิพากษ์ #คุณแม่วัยใสTheSeries ควรมีเนื้อหาสะท้อนและให้ความรู้ ในการป้องกันและรับมือกับปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น แนะพ่อแม่ต้องเปิดใจสอนเพศศึกษาลูก เพื่อให้พร้อมตั้งรับ

จากกรณี #คุณแม่วัยใสTheSeries ได้ปล่อยตัวอย่างซีรี่ส์ออกมาแล้ว ได้รับความสนใจจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับความเหมาะสมของเนื้อหาที่สื่อถึงการท้องในวัยเรียน แม้ว่าผู้สร้างจะมีเจตนารณรงค์ลดปัญหาท้องไม่พร้อม แต่กลับมีความเห็นของประชาชนที่แตกต่างกันไป 

วันนี้ (11 ส.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจความเห็นนักวิชาการและตัวแทนของแม่วัยใสเกี่ยวกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดย ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อสื่อมีการนำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนสังคม ผลที่ตามมาจึงเป็นเหมือนดาบสองคม ในด้านผู้รับสารที่รู้เท่าทันสื่อก็จะสามารถรับรู้ได้ถึงปัญหาและพยายามมองหาแนวทางแก้ไข แต่ขณะเดียวกันยังมีผู้รับสารบางกลุ่มที่มีปัญหาใกล้เคียงกับเนื้อหาที่สื่อนำเสนอได้เลือกทางออกด้วยการทำตามละครในสถานการณ์ที่ไม่สามารถบอกหรือพึ่งพาใครได้ สื่อจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะระมัดระวังเนื้อหาที่นำเสนอให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสื่อไม่ได้มีอิทธิพลกับผู้รับสารมากเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากผู้รับสารมีสิทธิเลือกและเข้าถึงเนื้อหาได้ในหลากหลายช่องทาง

แนะเพิ่มทางเลือกความรู้วัยรุ่น 

“ด้วยรูปแบบการนำเสนอของละครหรือซีรี่ส์ ที่จำเป็นต้องมีการดำเนินเรื่องให้น่าติดตามจึงทำให้การนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงควรมีการต่อยอดเนื้อหาเพิ่ม เช่น การทำสกู๊ปข่าว บทสัมภาษณ์ หรือทำคลิปวิดีโอสั้นๆ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวในท้ายละคร ท้ายซีรี่ส์หรือในสื่อโซเชียลมีเดียอื่นๆ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาให้ข้อมูลว่าหากตัดสินใจเช่นนี้ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างไร เพื่อให้วัยรุ่นได้รู้จักการคิดถึงผลในระยะยาวก่อนการตัดสินใจกระทำ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สื่อจะสามารถสะท้อนสังคมและช่วยรณรงค์แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ผศ.สกุลศรี ระบุ

ซึ่งผู้เขียนการ์ตูนคุณแม่วัยใส ต้นฉบับของซีรี่ส์เรื่องนี้ เคยชี้แจงถึงเจตนารมณ์ในการเขียน ว่าต้องการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคุณแม่วัยใสที่ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราวมืดมน หรือรุนแรงแต่เพียงด้านเดียว แต่คนที่ท้องในวัยเรียนก็สามารถมีชีวิตที่สดใสสวยงาม และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ก่อนลงมือเขียนยังได้มีการศึกษาข้อมูลจากแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาปรับแต่งจนเกิดเป็นผลงานดังกล่าวขึ้นในที่สุด 

ผู้เขียนระบุกรณีตัวเอกเรื่องแม่วัยใสเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

ผู้เขียนระบุกรณีตัวเอกเรื่องแม่วัยใสเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

ผู้เขียนระบุกรณีตัวเอกเรื่องแม่วัยใสเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

เปิดใจ "แม่วัยใส" ตั้งรับปัญหาจนพ้นวิกฤต

ด้านคุณแม่วัยใสวัย 18 ปี อย่างนางสาวกานดา ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า สื่อมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากในครอบครัวไม่เคยพูดหรืออธิบายเกี่ยวกับเรื่องเพศ เหมือนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดตรงๆ ในสังคมไทย เมื่อเกิดปัญหาขึ้น สิ่งที่ทำได้คือการปรึกษาเพื่อนและสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแล้วเลือกทำตาม

นางสาวกานดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ความกดดันและความกลัวที่เริ่มก่อตัวขึ้นส่งผลให้ตนเริ่มมีอาการซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งการทะเลาะกับครอบครัว การเลิกกับคู่รัก รวมถึงการโดนดูถูกจากคนรอบข้างจนทำให้รู้สึกท้อ และคิดหาทางออกจากปัญหาด้วยการคิดสั้น คิดทำร้ายลูกตัวเอง

ก่อนหน้ามีการป้องกันมาตลอด แต่ครั้งนี้คือความผิดพลาด เมื่อเริ่มมีอาการจึงปรึกษาเพื่อนสนิทและซื้อเครื่องตรวจมาทดลอง เมื่อทราบผลตนก็ไม่กล้าบอกใคร เก็บตัวอยู่ในห้องลำพังก่อนตัดสินใจบอกแม่ฝั่งผู้ชาย สุดท้ายผู้ใหญ่อีกฝั่งก็ได้เดินทางมาปรึกษากับที่บ้าน “พอพ่อกับแม่รู้ว่าท้อง แม่เอาแต่ร้องไห้ พ่อก็โกรธแล้วตัดสินใจให้เราเอาลูกออก แต่แม่แฟนไม่ยอม ตอนนั้นได้แต่คิดว่าทำไมเรามันเป็นตัวปัญหาขนาดนี้ คิดแล้วก็อยากฆ่าตัวตาย ทุกอย่างมันไม่ง่าย แต่สุดท้ายเราก็กลับมามีความสุขได้ เพราะความอดทนของเราเอง”

"วัยรุ่น" ชี้พ่อแม่ต้องเปิดใจสอนเพศศึกษาลูก

ขณะที่เยาวชนส่วนหนึ่งมีความเห็นสอดคล้องกันเกี่ยวกับการพูดคุยเรื่องเพศของคนในครอบครัวว่า พ่อแม่ไม่เคยพูดถึงหรือให้คำปรึกษา บางครั้งถูกตำหนิจากการตั้งคำถามเรื่องเพศ จึงทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกล่าวถึงและผู้ใหญ่มักคิดว่าเด็กจะสามารถเข้าใจและเรียนรู้ได้เองเมื่อโตขึ้น โดยไม่ได้คำนึงถึงแหล่งข้อมูลหรือผลกระทบที่จะตามมา ด้วยสังคมหรือพ่อแม่บางคนมีทัศนคติเชิงลบ มองว่าเด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นเด็กเหลวไหล มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ในหลายกรณีก็ซ้ำเติมมากกว่าช่วยเหลือ ในส่วนนี้จึงอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นบางกลุ่มเลือกที่จะเชื่อและทำตามสื่อต่างๆ ที่รับมาโดยทันทีจนก่อให้เกิดปัญหาได้

คุณแม่วัยใสที่พบปัญหาสามารถปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือ 1663 ให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อมแบบนิรนาม เพื่อรับคำแนะนำในเบื้องต้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือปรึกษาพ่อแม่เพื่อไม่ปล่อยให้ระยะเวลาเนิ่นนานออกไปจนเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

สำหรับ #คุณแม่วัยใสTheSeries  หลังจากมีการเผยแพร่ออกมา ทำให้มีเสียงสะท้อนจากสื่อสังคมออนไลน์ว่าสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน แต่ตัวละครก็ยังตัดสินใจที่จะรับผิดชอบผลที่ตามมาแม้ว่าจะแก้ไขปัญหาในทางที่ผิด ขณะที่บางความเห็นมองว่าเป็นการทำให้ประเด็นปัญหาดูเบาบางลงและนำเสนอการแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ หรือ “โลกสวย” จนอาจทำให้วัยรุ่นมีทัศนคติว่าการท้องในวัยเรียนนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใด

 

ผานิต  ฆาตนาค ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง