กลางดึกของเช้ามืดวันที่ 16 สิงหาคมปี 1977 เอลวิส เพรสลีย์ ทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อให้ตนเองผ่อนคลาย เพราะเย็นวันนั้นเขามีกำหนดขึ้นเครื่องบินกลับไปทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้ง แต่ไม่ว่าจะเต้นรำ, เล่นเปียโน หรือเล่นแร็กเก็ตบอล ก็ยังคงนอนไม่หลับ จึงให้คนใกล้ชิดนำยามาให้ถึงเตียงนอนถึง 3 ครั้ง จนตอนเช้าเขาก็ลุกจากเตียงไปอ่านหนังสือในห้องน้ำ พอถึงเวลา 14.00 น. คู่หมั้นของเขาก็พบร่างราชาเพลงร็อกนอนคว่ำหน้า เนื้อตัวเย็นเฉียบ ทีมแพทย์ช่วยกันกู้ชีวิตอย่างไร้ความหวัง ก่อนประกาศการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการเวลา 15.30 น. ของวันเดียวกัน
ผลการชันสูตรพบว่าหัวใจของเอลวิสมีขนาดใหญ่กว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า, ปอดมีอาการถุงลมโป่งพองทั้งที่ไม่สูบบุหรี่, ลำไส้มีความยาวกว่าปกติถึง 2 เท่า ผลการทดสอบด้านพิษวิทยาพบว่าขณะเสียชีวิตเอลวิสมีปริมาณยาอยู่ในร่างกายถึง 10 กว่าชนิด แต่ไม่พบสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ กระนั้น สารที่พบมากเป็นพิเศษคือปริมาณยาบรรเทาอาการปวดประเภทโคดีอีน ซึ่งมีมากกว่าการใช้รักษาทั่วไปถึง 10 เท่า จึงมีการลงความเห็นว่าเอลวิส เพรสลีย์เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลว จากการใช้ยาร่วมหลายขนาน
ผู้ที่ตกเป็นจำเลยสังคม คือ จอร์จ นิโคโปลอส หรือ ดร.นิก แพทย์ส่วนตัวที่ดูแลการเจ็บปวดเรื้อรังของเอลวิสมานานถึง 10 ปี หลังมีการเปิดเผยว่าเวลาเพียงครึ่งปี เขาสั่งจ่ายยาให้เอสวิสถึง 10,000 โดส โดยอ้างว่าได้พยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้เอลวิสลดการพึ่งพายา ถึงขนาดคิดค้นยาหลอกหรือ placebo กว่า 1,000 ชนิด แต่ไม่ได้ผล แม้เขาจะรอดพ้นจากการตกเป็นจำเลยคดีฆาตกรรม แต่ถูกแพทยสภาของรัฐเทนเนสซีสั่งระงับใบอนุญาตชั่วคราวในปี 1980 และถูกยกเลิกอย่างถาวรในปี 1993 ในข้อหาจ่ายยาเกินความจำเป็นแก่คนไข้มาเป็นเวลาหลายปี หลังจากสิ้นสถานะการเป็นแพทย์ ดร.นิก หันไปประกอบอาชีพหลายอย่าง และหันมาหารายได้โดยนำของที่ระลึกของเอลวิสมาประมูล และนำกระเป๋ายาที่เคยรักษาราชาเพลงร็อกออกแสดงตามที่ต่างๆ ก่อนจะเสียชีวิตในวัย 88 ปี เมื่อต้นปี 2016
การเสียชีวิตในวัยเพียง 42 ปี ของ เอลวิส เพรสลีย์ ยังคงสร้างความกังขาแก่สาธารณชน โดยเฉพาะการตัดสินใจของ ดร.เจอร์รี ฟรานซิสโก แพทย์ที่ด่วนสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของเอลวิส โดยไม่รอผลการทดสอบด้านพิษวิทยา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นสัปดาห์ นำไปสู่ข้อสงสัยเรื่องการปกปิดสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงของราชาเพลงร็อก
40 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอทฤษฎีการเสียชีวิตของเอลวิสอยู่มากมาย ข้อมูลที่ได้รับความสนใจได้แก่ผลการศึกษาของ ดร.ฟอเรสต์ ทอร์เรนต์ แพทย์ชาวแคลิฟอร์เนีย ที่สันนิษฐานว่าปัจจัยที่นำไปสู่จุดจบของราชาเพลงร็อก น่าจะมาจากอุบัติเหตุตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้านั้น จากอุบัติเหตุที่เอลวิสสะดุดล้มหัวฟาดอ่างอาบน้ำจนสลบ ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Clambake ในปี 1967 การกระแทกที่รุนแรงเช่นนั้นทางการแพทย์เรียกว่า อาการสมองบาดเจ็บรุนแรง (TBI) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เนื้อเยื่อสมองหลุดและรั่วไหลไปอยู่ในกระแสเลือด นำไปสู่อาการโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวดเรื้อรัง อาการตัวบวม การขยายของหัวใจและลำไส้
แกร์รี รอดเจอร์ส อดีตนักสืบอาชญากรรมและเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ ชี้แจงว่าการที่โรค TBI ยังไม่เป็นที่รู้จักของทางการแพทย์ในสมัยนั้น ทำให้เอลวิสไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม การเสียชีวิตทั้งที่ยังหนุ่มจึงเป็นเหตุการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ การจากไปของเอลวิสจึงไม่ใช่ความผิดของใคร หากเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นในปัจจุบัน โลกคงไม่ต้องสูญเสียราชาเพลงร็อกแอนด์โรลก่อนวัยอันควรเช่นนี้
ดร.นิก ถูกนำไปเชื่อมโยงกับ ดร.คอนราด เมอร์รีย์ แพทย์ส่วนตัวของ ไมเคิล แจ็คสัน ที่มีส่วนในการเสียชีวิตของราชาเพลงป็อป โดยทั้งสองได้รับฉายาว่าเป็น Doctor Feelgood ซึ่งเป็นชื่อเสียงหมอที่รักษาตามใจคนไข้ โดยไม่คำนึงว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวเช่นไร