วันนี้ (22 ส.ค.) นายอีลอนมัสก์ ผู้บริหารเทสลา มอเตอร์ และสเปซเอ็กซ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ 115 คนจาก 26 ประเทศทั่วโลก รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติให้พิจารณาวางมาตรการป้องกันการนำหุ่นยนต์สังหาร หรือเทคโนโลยีที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์มาใช้ในการทำร้ายร่างกายผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากหุ่นยนต์ประเภทนี้อาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ นอกจากนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอยังเรียกร้องให้บรรจุรายชื่อเทคโนโลยีที่ผิดศีลธรรมลงในบัญชีอาวุธต้องห้ามตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดขององค์การสหประชาชาติ เพื่อห้ามการใช้อาวุธที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเป็นอันตรายต่อชีวิต
สำหรับการวางมาตรการสกัดการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์สังหาร เป็นประเด็นที่คณะกรรมการองค์การสหประชาชาติอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยมากกว่า 1,000 คน ยื่นหนังสือเพื่อเตือนถึงอันตรายของเอไอเมื่อปี 2558
ผู้เชี่ยวชาญ เตือนว่า เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วอาจทำให้หุ่นยนต์สังหารได้รับการพัฒนาจนเป็นผลสำเร็จและนำมาใช้งานได้จริงในเร็ววันนี้ ถือเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติ ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการประดิษฐ์หุ่นยนต์สังหาร มองว่า กรอบของกฎหมายในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว