วันนี้(1 ก.ย.2560) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปิดเผยตัวเลขพื้นที่พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย ประจำปี 2559 เนื่องในวันที่ระลึก 27 ปีสืบนาคะเสถียร โดยพบว่าพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม โดยกรมป่าไม้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเท่ากับ 102,174,805.09 ไร่ ลดลดจากปี 2558 ร้อยละ 0.02 หรือเท่ากับ 65,000 ไร่ จากสถิติพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย จากปี 2557 - 2559 ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าลดลง ร้อยละ 0.02 ทุกปี
ปัจจุบันภาคเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุด คือ ร้อยละ 64.37 ของพื้นที่ภาค รองลงมา คือภาคตะวันตก ร้อยละ 59.03 ภาคใต้ร้อยละ 24 ภาคตะวันออกร้อยละ 21.84 ภาคกลางร้อยละ 21.09 ภาคที่มีพื้นที่ป่าน้อยที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14.93 ของพื้นที่ภาค
ภาพมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ส่วนภาคที่มีอัตราลดลงของพื้นที่ป่าไม้รุนแรงที่สุด คือภาคตะวันออก รองลงมาคือภาคใต้ ซึ่งพื้นที่ป่าหายไปร้อยละ 36.38 และ 34.82 ของพื้นที่ป่าไม้ที่เคยมีในภาคเมื่อปี 2504 และถือเป็นปีแรกที่มีการแปลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่ป่า
ถึงแม้ว่าภาคตะวันออกจะมีพื้นที่ป่าลดลงมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2504 แต่จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 ภาคตะวันออก็ยังมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2558 มากที่สุดคือ ร้อยละ 0.07 ภาคกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.04 ภาคใต้เพิ่มขึ้น 0.02 ส้วนภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคเหนือมีพื้นที่ป่าลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 0.06, 0.01 และ 0.11 ตามลำดับ
ห่วงเขื่อนใหญ่รุกป่าภูเขียว
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูริณาการ บอกว่า สถาน การณ์ก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ยังน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดช่วงต้นสัปดาห์รัฐบาล คสช.เพิ่งอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนลำสะพุง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ ป่าต้นน้ำชี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด และแม้ว่าจะมีความพยายามจากหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขอให้ขยับสันเขื่อนออกจากไข่แดงของเขตป่า และหลายหน่วยงานเองก็เป็นห่วงลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ซึ่งส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาควรนำบทเรียน จากกรณีที่การสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้มีสัตว์ป่าจำนวนมากตาย และบางส่วนที่สืบ นาคะเสถียร อพยพและช่วยชีวิตออกมาได้ ที่ผ่านมา 27 ปี ความพยายามในการสร้างเขื่อนในเขตป่าอนุรักษ์ยังคงเกิดขึ้นทุกรัฐบาล ดังนั้นจึงอยากให้ใช้บทเรียน ในการยุติการสร้างเขื่อนในเขตป่าอนุรักษ์ โดยขาดการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน และถึงเวลาที่ต้องทบทวน เพราะขณะพื้นที่สมบูรณ์เหลือน้อย