นักวิชาการเชื่อการดำเนินงานภาครัฐที่ซับซ้อนเป็นอุปสรรคเอฟทีเอ
นายเชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและเครือข่ายการผลิตในอาเซียน พบว่าผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงจากเอฟทีเอเพียงร้อยละ 50 ซึ่งช่วยประหยัดภาษีได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็นกว่า 100,000 ล้านบาทหากมีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้เต็มที่ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่ใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับอุปสรรคสำคัญที่สุดคือการดำเนินงานภาครัฐที่ยุ่งยากซับซ้อนใช้เวลามากในการดำเนินการ รองลงมาคือความเข้าใจเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและอัตราการลดกำแพงภาษีนำเข้า
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยบางส่วน ไม่ได้ประโยชน์จากเอฟทีเอเต็มที่ เนื่องจากมีสินค้าอยู่นอกรายการลดภาษีหรือเป็นสินค้าอ่อนไหว ขณะที่สินค้าบางชนิดไม่ผ่านกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด นอกจากนี้การตรวจโครงสร้างต้นทุนและออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้เวลานาน มีผลให้สินค้าออกจากพิธีศุลกากรได้ช้า รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าด้วย
ทั้งนี้นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่าอุปสรรคสำคัญของเอฟทีเอคือ การขาดความเข้าใจของผู้ส่งออก โดยเฉพาะพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ มิฉะนั้นอาจต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง จึงอยากให้ภาครัฐได้ทำงานอย่างบูรณาการกับภาคเอกชน