วันนี้ (8 ก.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายทักษิณ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมนำเอกสารที่อ้างว่า เป็นหนังสือร้องเรียนของ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อร้องทุกข์คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่สั่งย้าย โดยระบุว่ามีสาเหตุมาจากการไม่ยอมแจ้งข้อหารับของโจรและฟอกเงินต่อนายพานทองแท้ แต่ผู้บังคับบัญชากลับเห็นต่างมาแสดง พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการยุติธรรมว่า คดีนี้ควรตรวจสอบองค์กรที่ได้รับผลประโยชน์ก้อนใหญ่ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งทหารและตำรวจอีกกว่า 300 ธุรกรรม แต่กลับตั้งใจตรวจสอบเอาผิดกับเงินจำนวน 10,000,000 บาท ซึ่งเท่ากับร้อยละ 0.1 ของเงินทั้งหมด เพียงเพราะตั้งธงจะเอาผิดกับลูกอดีตนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาล และ คสช. ไม่เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน และไม่ทราบว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นความพยายามสร้างเงื่อนไขในการลี้ภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้ตรวจสอบแล้วว่า การดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีกลไกในการดำเนินคดีกำหนดไว้ตามกฎหมาย โดยมีพนักงานอัยการเข้าร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้คำแนะนำและตรวจสอบทุกคดีจึงเป็นกลไกที่โปร่งใสและไม่สามารถแทรกแซงได้ ซึ่งคดีตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งดูแลโดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
สำหรับการให้ข่าวของ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ว่าถูกโอนย้ายเกิดจากการไม่ได้ดำเนินการคดีให้นั้น จึงเป็นการย้ายที่ไม่ชอบนั้น ในเรื่องนี้ พ.ต.ท.สมบูรณ์ ได้โต้แย้งร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) และปัจจุบัน ก.พ.ค. ได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นว่าการโอนย้ายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น ขณะนี้ พ.ต.ท. สมบูรณ์ ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ด้วยการฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแล้วเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล และ คสช. ไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และล่าสุดนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตกรณีมีกระแสข่าวว่า ดีเอสไอเตรียมแจ้งข้อหาฟอกเงินกับนายพานทองแท้ และพวก ในคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยว่า มีความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือใช้กลไกและอำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงของคดีนี้มีการดำเนินการมาตั้งแต่เหตุรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งอัยการสูงสุดก็สั่งไม่ฟ้องคดีมาแล้ว แต่หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 กลับมีการนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นอีกครั้ง