วันนี้ (15 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังสรุปยอดผู้ได้รับสิทธิโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จากที่มาลงทะเบียนทั้งหมด 14.17 ล้านคน เหลือ 11.43 ล้านคน โดยมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์กว่า 2.7 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ถือครองที่ดิน เงินฝาก และมีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ ส่วนกรณีที่มีผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาเอก มาลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์กว่า 500 คน จากการตรวจสอบเบื้องต้น 100 คน พบว่ามีผู้จบการศึกษาจริงเพียง 5 คน และตรงตามเงื่อนไขรับสวัสดิการ ส่วนอีก 95 คน เป็นผู้ที่ไม่ได้จบจริง
สำหรับการตรวจสอบสิทธิ์ จะเริ่มตรวจสอบได้ตั้งแต่วันนี้ ผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.ตรวจสอบด้วยตัวเองหรือขอความอนุเคราะห์ จากเจ้าหน้าที่ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th, www.mof.go.th และ www.fpo.go.th โดยพิมพ์เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักลงไปในช่องที่กำหนด ระบบจะแจ้งผลการตรวจสอบ
2.ตรวจสอบผ่านสายด่วน 6 หน่วยงาน ในเวลาราชการ ได้แก่ Call center ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 1359, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 02-555-0555, ธนาคารออมสิน 1115, ธนาคารกรุงไทย 02-111-1111 กรมบัญชีกลาง 02-270-6400 และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร และ3.ตรวจสอบ ณ ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
ส่วนผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ขอรับสิทธิ์ ในวันที่ 29 กันยายนนี้ หลังตรวจสอบจาก 3 ช่องทางแล้ว พบว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ คลังจะให้เหตุผลว่าไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องใดบ้าง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมี 2 หมวด ได้แก่ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งประกอบด้วย วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร จากร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยผู้ที่มีรายได้ ตำกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี จะได้รับ 300 บาทต่อคนต่อเดือน
ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับ 200 บาทต่อคน ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
ส่วนหมวดที่ 2 คือ หมวดการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งประกอบด้วย วงเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน และวงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน