ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บั้งไฟ “กลายพันธุ์” ปัญหาระดับท้องถิ่น ผลกระทบระดับชาติ

12 มิ.ย. 58
11:30
717
Logo Thai PBS
บั้งไฟ “กลายพันธุ์” ปัญหาระดับท้องถิ่น ผลกระทบระดับชาติ

เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมีมาตรการและกฎหมายควบคุมการจุดบั้งไฟ เนื่องจากประเพณีบั้งไฟยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนจากงานบุญเล็กๆ ในท้องถิ่น เป็นงานเทศกาลท่องเที่ยวระดับภูมิภาคที่นำมาสู่การพนันและการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบั้งไฟมีประสิทธิภาพคล้าย "อาวุธยุทธภัณฑ์" เข้าไปทุกที

นอกไปจากข้อห่วงใยของปราชญ์ชาวบ้านและคนท้องถิ่นในภาคอีสาน รวมถึงบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ที่เล็งเห็นว่าการจุดบั้งไฟในทุกวันนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการบิน เลยไปถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องจากวิธีการประดิษฐ์บั้งไฟต่างจากในอดีต เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเองก็มีความกังวลไม่น้อยไปกว่ากัน

พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ.3) ที่จับกุมการจุดบั้งไฟแบบผิดกฎหมายจนได้ฉายา "มือปราบบั้งไฟ" ให้ความเห็นว่า แม้จะมีการกวดขันอย่างเข้มงวด เช่น ให้ประชาชนแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทำการจุดบั้งไฟเป็นเวลา 7 วัน กำหนดขนาดบั้งไฟให้มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3.5 นิ้ว หรือห้ามไม่ให้มีการพนัน แต่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจุดบั้งไฟอีกหลายมิติที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะเรื่องของวัตถุดิบที่ใช้ประดิษฐ์บั้งไฟซึ่งขณะนี้ใช้วัตถุที่คล้ายกับการทำระเบิด ไม่ได้ทำจากกระบอกไม้ไผ่อัดด้วยดินปืนประสิทธิภาพปานกลางเหมือนเมื่อก่อน

บั้งไฟยุคใหม่ประกอบขึ้นจากท่อเหล็กหรือท่อพลาสติกขนาดใหญ่ อัดด้วยดินปืนประสิทธิภาพสูง ซึ่งส่วนประกอบหลายตัวตามกฎหมายพบว่าเป็นเคมีทางยุทธภัณฑ์

พล.ต.ท.พิสัณห์อธิบายว่า บั้งไฟสมัยใหม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ "ระเบิดท่อแป๊ป" ประกอบกับขนาดที่ใหญ่ขึ้นและประสิทธิภาพที่มากขึ้นย่อมส่งกระทบต่อความปลอดภัยของอากาศยาน เนื่องจากบั้งไฟสามารถลอยขึ้นสูงถึงเพดานการบินของเครื่องบินพาณิชย์ ดังนั้นเครื่องบินขนาดเล็กที่มีเพดานการบินต่ำลงมา เช่น เครื่องบินเครื่องบินทำฝนเทียม เครื่องบินฝึกบินของทหาร เครื่องบินให้เช่าของเอกชน หรือแม้แต่เฮลิคอปเตอร์ จึงมีความเสี่ยงในด้านปลอดภัยไปด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ได้จับตรวจจับบั้งไฟท่อแป๊ปที่ จ.อำนาจเจริญ กว่า 10,000 บั้ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้มีลักษณะเป็นดอกไม้เพลิงตามสถานะของบั้งไฟ

       

<"">

“ปัญหาการจุดบั้งไฟกับความปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิต ซึ่งรวมไปถึงผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องบินที่บินอยู่บนน่านฟ้าไทย เป็นปัญหาที่เจ้าหน้าที่และฝ่ายความมั่งคงรู้ว่าอันตรายแค่ไหน ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงให้ประเพณีบั้งไฟที่เคยดีงามกลายเป็นบ่อนบั้งไฟเสรีที่มีเงินสะบัดนับหมื่นล้านบาท โดยมีผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือนักการเมืองท้องถิ่นอยู่เบื้องหลังเนื่องจากได้ผลประโยชน์ทั้งทางตรงเป็นเม็ดเงิน และทางอ้อมในการรวบรวมฐานเสียงทางการเมือง นอกจากนี้ ผู้จัดงานประเพณีบั้งยังมีรายได้จากการขายบัตรเข้าชมนับล้านบาท” ผบช.ภ.3 ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่่ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความร่วมมือจากประชาชนและพล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 ในการจัดระเบียบบั้งไฟเป็นอย่างดี โดยสถิติการขออนุญาตจุดบั้งไฟในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 3 จากเพิ่มขึ้นจาก 85 ครั้งในปี 2557 เป็น 5,000 ครั้ง ในปี 2558 และไม่พบกรณีการจุดบั้งไฟโดยไม่ขอแจ้ง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี พล.ต.ท.พิสัณห์ให้ข้อมูล

เมื่อถามถึงทางออกของปัญหาบั้งไฟในถิ่นอีสาน พล.ต.ท.พิสัณห์ แสดงทัศนะว่า อาจต้องออกเป็นกฎหมายควบคุมให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ทางบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย กำลังรวบรวมข้อกฎหมายเสนอต่อกรมการบินพลเรือน เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาล ให้กระทรวงมหาไทยออกประกาศเป็นกฎกระทรวง

พล.ต.ท.พิสัณห์ เสนอว่าอยากให้กฎหมายกำหนดให้รัศมี 65 กิโลเมตรรอบสนามบินเป็นเขตปลอดการจุดบั้งไฟและเห็นว่าอำนาจการอนุญาตให้จุดบั้งไฟไม่ควรอยู่ที่ท้องที่หรือนายอำเภอ แต่ควรให้ผู้ที่ต้องการจุดบั้งไฟทำเรื่องขอมาที่กระทรวงมหาดไทย ที่สำคัญคือต้องวินิจฉัยว่าบั้งไฟในปัจจุบันเข้าข่ายอาวุธ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 หรือไม่

พล.ต.ท.พิสัณฑ์เรียกร้องให้ชาวบ้านหันกลับมาใช้ไม้ไผ่ในการประดิษฐ์บั้งไฟขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3.5 นิ้ว และกำหนดให้แต่ละหมู่บ้านจุดบั้งไฟได้ปีละ 1 ลูก และถ้าพัฒนาให้เป็นบั้งไฟที่จุดแล้วแตกกระจายคล้ายพลุเหมือนบั้งไฟของญี่ปุ่นได้จะดียิ่งขึ้น

“ถ้าเป็นการจุดเพื่อประเพณีแบบเก่าจริง ๆ ที่ใช้ไม้ไผ่ขนาดเล็กและไม่พุ่งขึ้นสูง จุดต่อครั้งใช้บั้งไฟแค่ 1-2 ลูก ต่อปี ก็คงไม่มีใครว่า อย่างไรก็ดี แม้การออกกฎหมายเป็นข้อบังคับจะเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาที่ดี แต่ควรทำไปพร้อมกับการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตมาเป็นอันดับแรก รวมไปถึงปลอดภัยต่อทรัพย์สิน ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของประเทศไทย" นายตำรวจเจ้าของฉายา "มือปราบบั้งไฟ" กล่าว

ขณะที่ นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการอุบลราชธานีซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการจุดบั้งไฟกล่าวว่า ตนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและกระทบต่อความปลอดภัยของหลายฝ่าย และไม่ต้องการให้ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามต้องแปลกปลอมไปด้วยการพนัน แต่เนื่องจาก กฎหมายไม่ได้กำหนดแนวทางการควบคุมที่ชัดเจน จังหวัดอุบลราชธานีจึงใช้เวลาศึกษาและออกเป็นมาตรการด้านความปลอดภัยชั่วคราวของจังหวัดเอง ซึ่งวิทยุการบินฯ ก็นำต้นแบบนี้ไปเผยแพร่ใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งการกำหนดให้เส้นผ่านศูนย์กลางของบั้งไฟไม่เกิน 3.5 นิ้ว น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม เพื่อไม่ให้พุ่งสูงจนเกินไป และการห้ามไม่ให้มีการพนันบั้งไฟโดยเด็ดขาด เป็นต้น

“สำหรับพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ต้องขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือต่อกรณีนี้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูเหตุผลของการจุดบั้งไฟในอดีต ก็ทำเพื่อบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอให้ฟ้าฝนตกดี และแก้บนหากลูกหลานทำอะไรสำเร็จตามที่ขอ จึงสอดรับกับขนาดของบั้งไฟว่าไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่หรือต้องขึ้นสูง และการลดขนาดบั้งไฟยังช่วยประหยัดเงินอีกด้วย” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีกล่าว
   
       

<"">

นายประทีปบอกต่อด้วยว่า ในส่วนของการแก้ไขด้วยการออกเป็นกฎหมายควบคุม เดิมนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักต่อเรื่องนี้ และแจ้งมายังจังหวัดว่ากำลังเร่งยกร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการจุดบั้งไฟ เพียงแต่ขณะนั้นประเทศมีการเปลี่ยนอำนาจการปกครองหลายครั้ง การนำเสนอกฎหมายจึงติดขัด

“สิ่งที่อยากให้ทำมากที่สุดตอนนี้คือให้ผู้เชี่ยวชาญการตีความบั้งไฟใหม่ เพราะเดิมกฤษฎีกาตีความว่าเป็นดอกไม้เพลิงตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 แต่สภาพในปัจจุบันคล้ายกลับยุทธภัณฑ์ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งการควบคุมดูแลต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ด้วยหรือไม่ ในจุดนี้ถ้าตีความได้ก็จะสะดวกต่อการดูแลจัดการ และถ้าสามารถระบุให้ชัดเจนว่าคุณสมบัติของบั้งไฟที่ถูกกฎหมายมีอะไรบ้างก็จะดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องย้ำว่าทางจังหวัดไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการจุดบั้งไฟ แต่อยากเห็นการจุดแบบดั้งเดิมที่สวยงามทั้งในแง่ประเพณี ช่วยหลอมหลวมจิตใจคนอีสานผ่านงานบุญ และยังปลอดภัยแต่ทุกภาคส่วน” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวทิ้งท้าย

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
-วิทยุการบินหวั่น 'บั้งไฟ' ทำไทยไม่ผ่านประเมินความปลอดภัย ICAO (http://news.thaipbs.or.th/node/294421)
-ปราชญ์อีสานเสนอคุม ‘บั้งไฟไฮเทค’ ลดผลกระทบการบิน (http://news.thaipbs.or.th/node/294608)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง