ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำยา “ล้างไต” ส่อขาดแคลน หวั่นกระทบผู้ป่วยไตวาย 2.5 หมื่นคน

สังคม
1 ต.ค. 60
15:18
1,773
Logo Thai PBS
น้ำยา “ล้างไต” ส่อขาดแคลน หวั่นกระทบผู้ป่วยไตวาย 2.5 หมื่นคน
ชมรมเพื่อนโรคไต ระบุ น้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องส่งสัญญาณขาดแคลนจากระบบ หวั่นกระทบผู้ป่วยไตวาย 25,000 คน ชี้ผู้ป่วยขาดน้ำยาเพียง 3 วันเสี่ยงถึงชีวิต เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดซื้อเพิ่ม

วันนี้ (1 ต.ค.2560) นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 25,000 คน โดยแต่ละคนหากขาดน้ำยาล้างไตไม่เกิน 3 วัน จะต้องเสียชีวิต หรือไม่ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมปอด แต่ในขณะนี้กลับพบว่าน้ำยาล้างไตเหล่านั้นกำลังจะขาดแคลนจากระบบ

นายธนพลธ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบการจัดซื้อยารวมโดยให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเมื่อสถานการณ์การจัดซื้อยาเปลี่ยนมือก็พบว่าเกิดปัญหา โดยทางชมรมเพื่อนโรคไตได้ลงพื้นที่และเยี่ยมบ้านทางภาคอีสาน เช่น จ.มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ พบว่าน้ำยาล้างไตที่สต็อกอยู่ตามบ้านผู้ป่วยกำลังวิกฤต คือหากส่งล่าช้ากว่ากำหนดเพียง 1 วัน ก็จะขาดสต็อกทันที

“ตอนนี้มันยังไม่ขาดแคลน แต่มีสัญญาณมาแล้ว เราพบว่ากระบวนการจัดส่งเริ่มล่าช้า มีการบริหารน้ำยาอย่างเข้มงวดมาก โดยขณะนี้ทราบมาว่ายังไม่มีการสั่งซื้อยาทั้งๆ ที่เป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ คำถามคือถ้าไม่มีการสั่งยาแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ส่วนตัวคาดว่าภายในอีกไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า หรือภายในเดือน พ.ย.น้ำยาล้างไตจะขาดแคลน และจะเกิดความเดือดร้อนทั้งประเทศ” นายธนพลธ์ กล่าว

นายธนพลธ์ กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากการปรับระบบการจัดซื้อยาจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยไตวายอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยไตวายต้องล้างไตวันละ 4 ครั้ง ถามว่าถ้าน้ำยาขาดแล้วใครจะรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มขาดแคลนสต็อกน้ำยาล้างไตด้วย ถามต่อว่าหากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ รมว.สธ. หรือ สปสช.จะรับผิดชอบหรือไม่ หรือผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าบุคคลเหล่านั้นจะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่

“วันนี้เรายังไม่เห็นรูปธรรมเรื่องการจัดซื้อยา ส่วนตัวทราบข่าวว่าขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็ไม่กล้าเซ็นซื้อยาเพราะกลัวผิดกฎหมาย ถ้าระดับ อภ.ไม่กล้าเซ็นถามว่าใครจะเซ็น และหากเกิดปัญหานี้ขึ้น เหมือนคนไข้กำลังถูกจับเป็นตัวประกัน ชีวิตของผู้ป่วยไตวายยืนอยู่บนเส้นด้าย เพราะถ้าขาดน้ำยาแล้วเราต้องตาย”นายธนพลธ์ กล่าว

นายธนพลธ์ กล่าวอีกว่า ในอดีต สปสช.เป็นผู้จัดซื้อยามา 10 ปี ผู้ป่วยไม่เคยได้รับผลกระทบ คำถามคือเหตุใดเมื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงเกิดผลกระทบต่อระบบมากมายเช่นนี้ แล้วประชาชนจะฝากชีวิตไว้กับใคร จะอยู่อย่างไร ทั้งนี้ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ ชมรมเพื่อนโรคไต จะประชุมใหญ่เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง