ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เช็กด่วน! ช็อกโกแลตยี่ห้อไหนปนเปื้อนสารตะกั่ว-แคดเมียม

สังคม
4 ต.ค. 60
12:10
62,220
Logo Thai PBS
เช็กด่วน! ช็อกโกแลตยี่ห้อไหนปนเปื้อนสารตะกั่ว-แคดเมียม
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลสุ่มตรวจการปนเปื้อนสารตะกั่วและแคดเมียม ในช็อกโกแลตยี่ห้อดัง 19 ตัวอย่าง พบว่ามี 8 ตัวอย่างปนเปื้อนสารตะกั่วและแคดเมียม และอีก 10 ตัวอย่างปนเปื้อนแคดเมียม

วันนี้ (4 ต.ค.2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนสารตะกั่วและแคดเมียมในช็อกโกแลตยี่ห้อดัง 19 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 แบ่งเป็นดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่นๆ 9 ตัวอย่าง

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากการทดสอบของศูนย์ทดสอบนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า มีช็อกโกแลตที่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่วและแคดเมียม 8 ตัวอย่าง ได้แก่ ได้แก่ 1.ลินด์ เอ็กเซลเลนท์ ดาร์ก 85% โกโก้, 2.ทอปเบอโรน ดาร์ก ช็อกโกแลต ผสมน้ำผึ้งและอัลมอนด์ นูกัต, 3.เบอรีล 80% คาเคา ดาร์กช็อกโกแลต, 4.กีเลียน เบลเจี้ยน ช็อกโกแลต ดาร์ก 72%, 5.ริตเตอร์ สปอร์ต 50% โกโก้ ดาร์ก ช็อกโกแลต, 6.ล็อกเกอร์ ดาร์ก-นอร์, 7.เฮอร์ชี่ ดาร์ก ช็อกโกแลต และ 8.คินเดอร์ บูเอโน่ ดาร์ก ลิมิเต็ด อีดิทชั่น

ส่วนช็อกโกแลตที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียม มี 10 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ลอตเต้ กานา แบล็ค ช็อกโกแลต เอ็กตร้า โกโก้, 2.เบอรีล อัลมอนด์, 3.ยูไนเต็ด อัลมอนด์ ไวท์ แอนด์ ดาร์ก ช็อกโกแลต, 4.ล็อตเต้ กานา เอ็กตร้า คาเคา แบล็ค, 5.มอรินากะ ดาร์ส ดาร์ก ช็อกโกแลต, 6.เนสท์เล่ คิทแคท ช็อกโกแลตนมสอดไส้เวเฟอร์, 7.โนเบิลไทม์, 8.เฟอเรโร รอชเชอ ช็อกโกแลตนมผสมเกล็ดเฮเซลนัทสอดไส้ครีมและเฮเซลนัท, 9.ทวินช็อกฮาร์ท และ 10.เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์

 

นอกจากนี้ยังมีช็อกโกแลต 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทยและไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ เบอรีล อัลมอนด์ และ เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ ซึ่งผลิตในประเทศมาเลเซีย ขณะที่ผลการทดสอบในครั้งนี้ พบว่ามีช็อกโกแลตเพียงตัวอย่างเดียวที่ "ไม่พบ" ทั้งสารตะกั่วและแคดเมียม คือ "ลินด์ สวิส คลาสสิค ไวท์ ช็อกโกแลต"

เลขาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังระบุอีกว่า การสุ่มตรวจสารตะกั่วและแคดเมียมในช็อกโกแลตครั้งนี้ เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานตะกั่วทั้งในและต่างประเทศ แม้จะพบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารแคดเมียม จึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำมาตรฐานแคดเมียม เนื่องจากในยุโรปได้มีการกำหนดมาตรฐานเรื่องแคดเมียมไว้แล้วและจะบังคับใช้ในปี 2562 จึงเห็นว่าควรมีการนำมาตรฐานนี้มาใช้ในประเทศไทย

ด้าน น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การปนเปื้อนของสารตะกั่วและแคดเมียมในอาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน เพราะทั้ง 2 ชนิดเป็นสารที่ทนความร้อนสูง แม้ผลทดสอบการปนเปื้อนตะกั่วและแคดเมียมในช็อกโกแลตดังกล่าวจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สารโลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายได้ ดังนั้นผู้บริโภคควรระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต

 

ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) ได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่สำหรับแคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้

สอดคล้องกับ น.ส.อัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ระบุว่า การได้รับสารตะกั่วและแคดเมียมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มทารกในครรภ์และเด็ก ที่จะกระทบต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็ก ขณะที่องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) กำหนดให้แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็ง

ทั้งนี้ สารตะกั่วและแคดเมียมถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการดูดซึมสารโลหะหนักของพืช ดังนั้น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวดจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งอาหารได้อีกทางหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง