วันนี้ (5 ต.ค.2560) นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ได้มีการค้นพบไดโนเสาร์อายุ 100 ล้านปี สายพันธุ์กินพืชในกลุ่ม Titanosauriforma ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2559 นายถนอม หลวงนันท์ ชาวบ้านในพื้นที่บ้านพนังเสื่อ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้ค้นพบโครงกระดูกคล้ายไดโนเสาร์ขณะหาปลา จึงได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ต่อมากรมทรัพยากรธรณีได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2559 พบว่าเป็นชิ้นส่วนซากไดโนเสาร์จริง จึงขุดสำรวจเพิ่มเติม
ปัจจุบันพบชิ้นส่วนทั้งสิ้น 20 ชิ้น คาดว่าเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ตัวเดียวกันและอาจเป็นกลุ่มไดโนเสาร์กินพืชคอยาว หางยาว จำพวกซอโรพอด สะสมตัวในชั้นหินทรายหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช อายุทางธรณีกาลอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น โดยขณะนี้ยังไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ เนื่องจากยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มใด
รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้คาดว่าเป็นชิ้นส่วนซากไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชิ้นส่วนสำคัญที่พบคือ ชิ้นส่วนกระดูกใต้กระเบนเหน็บ, กลุ่มกระดูกเชิงกราน ได้แก่ อีเลียม อิสเชียม และพิวอีส, ชิ้นส่วนกระดูกสันหลัง และชิ้นส่วนกระดูกขาหน้าขวาท่อนบนที่มีความยาว 178 เซนติเมตร ถือว่ายาวมากที่สุดเท่าที่เคยพบมาในหมวดหินโคกกรวด คาดว่าขนาดตัวอาจยาวถึง 23-30 ม. โดยประมาณ และมีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะอยู่ในกลุ่มย่อย 2 กลุ่มคือ หากขาหลังยาวกว่าขาหน้า จะเป็นกลุ่ม Somphospondyli แต่ไดโนเสาร์พนังเสื่อจะมีขนาดใหญ่กว่า กลุ่มที่ 2 คือ ขาหน้ายาวกว่าขาหลัง เรียกว่ากลุ่ม Brachiosauridae มีลักษณะคล้ายยีราฟ แต่ไดโนเสาร์พนังเสื่อมีขนาดเล็กกว่า จึงยังต้องศึกษาอย่างละเอียดต่อไปเพื่อหากลุ่มหรือชนิดที่ชัดเจน
ในพื้นที่ที่ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์อยู่ใกล้กับแหล่งการศึกษาและพื้นที่ชุมชน จึงวางแผนการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยประชาชนมีส่วนสำคัญในการร่วมกันช่วยกันดูแลรักษา เนื่องจากเป็นมรดกจากโลกและเป็นสมบัติของชาติที่ทุกคนต้องช่วยกันเผยแพร่ในเรื่องขององค์ความรู้และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้แก่เยาวชนในรุ่นต่อไป
ด้าน น.ส.ศศิธร ขันสุภา นักธรณีวิทยาชำนาญการ กล่าวว่า แม้เจ้าหน้าที่จะพบกระดูกส่วนขาหน้าที่สมบูรณ์แต่กระดูกขาหลังที่พบยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องใช้เวลาในการขุดค้นหาชิ้นส่วนเพิ่มเติมเพื่อศึกษาเทียบเคียงจึงจะสามารถระบุได้ว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดใด ทั้งนี้หากไม่พบว่ามีความใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับไดโนเสาร์ชนิดอื่นก็จะสามารถระบุว่าเป็นการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกได้ แต่ต้องใช้เวลาศึกษาโดยละเอียดและหาเครือข่ายจากต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลเทียบเคียงต่อไป หากไม่พบชิ้นส่วนเพิ่มเติมต้องวิเคราะห์จากรอยประที่เชื่อมต่อกันของชิ้นส่วนทั้ง 20 ชิ้นที่พบ แล้วประมาณการณ์ความยาวของตัวและรูปร่างแล้วนำไปเทียบเคียงกับไดโนเสาร์ชนิดและกลุ่มอื่นๆ ต่อไป คาดว่าไม่เกิน 10 ปี จะรู้ผลจนสามารถระบุชนิดและกลุ่มได้อย่างชัดเจน
นางอัปสร สอาดสุด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการค้นพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ในครั้งนี้ทางกรมทรัพยากรธรณีคาดว่าบริเวณ จ.ชัยภูมิ อาจยังมีชิ้นส่วนอื่นๆ ของไดโนเสาร์ตัวนี้หรือตัวอื่นหลงเหลืออยู่ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจต่อไป ในประเทศไทยคาดว่ามีอีกหลายพื้นที่ที่มีชิ้นส่วนของไดโนเสาร์แต่เจ้าหน้าที่ยังค้นหาไม่พบ ประชาชนมีส่วนช่วยค้นหาชิ้นส่วนเหล่านี้ได้โดยเมื่อพบวัตถุคล้ายกระดูกไดโนเสาร์หรือฟอสซิลต่าง ๆ สามารถแจ้งไปยังสำนักงานทรัพยากรเขตประจำจังหวัด 4 แห่ง คือ สำนักงานทรัพยากร เขต 1 จ.ลำปาง, สำนักงานทรัพยากร เขต 2 จ.ขอนแก่น, สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 จ.ระยอง และสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหรือโทรศัพท์ 02-6219845
ขณะนี้ประเทศไทยยังค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืชมาแล้ว 4 สายพันธุ์ คือ อีสานโนซอรัส อายุ 209 ปี พบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ขนาด 1.65 ซม. ไดโนเสาร์กินพืช แหล่งภูน้อย อายุ 150 ล้านปี พบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ขนาด 120 ซม., ภูเวียงโกซอรัส 130 ล้านปี พบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ขนาด 99 ซม. และไดโนเสาร์กินพืชแหล่งพนังเสื่อที่พบล่าสุด อายุ 100 ล้านปี พบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ขนาด 178 ซม.