วันนี้ (9 ต.ค.) มูลนิธิชีววิถี รายงานว่า เมื่อปี พ.ศ. 2538 ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก และมีพันธกรณีตามความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) ที่จะต้องอนุวัตการ(Implementation)กฎหมายภายในเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักปรับปรุงพันธุ์พืชและบริษัทเมล็ดพันธุ์ (Plant breeder’s right หรือ Plant varieties protection)
เพื่อดำเนินการดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ต่างเตรียมร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชเวอร์ชั่นของตัวเองเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา โดยทั้งสองร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญแทบจะเหมือนกันทุกประการเพราะร่างขึ้นตามแนวทางของสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์เฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับแตกต่างกันที่แต่ละกรมประสงค์จะเป็นผู้กำกับดูแลกฎหมายเท่านั้น และยังไม่สามารถตกลงกันได้
ในระหว่างนั้น องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเห็นว่า ร่างกฎหมายของหน่วยงานราชการนั้นมีข้อจำกัดที่มีเนื้อหาให้การคุ้มครองเฉพาะสายพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น แต่มิได้ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ทั้งๆที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ และให้การรับรองบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพมีผลบังคับใช้แล้ว
ในระหว่างการชุมนุมใหญ่ของสมัชชาคนจนเมื่อปี 2540 ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกด้วย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกฝ่ายในการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชขึ้น ทั้งนี้ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 1 มกราคม 2543 ตามที่ WTO กำหนด
เมื่อรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แทนพลเอกชวลิตที่ลาออกไปหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิม เพื่อดำเนินการร่างกฎหมายต่อจนแล้วเสร็จในปี 2540 แต่กว่ากฎหมายจะผ่านการพิจารณาของสภาได้ก็ล่วงไปจนถึงปลายปี 2542 ด้วยอุปสรรคหลายประการ เช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรท่านหนึ่งเสนอให้แทนที่จะร่างกฎหมายนี้ใหม่แต่ให้ไปใช้กฎหมายสิทธิบัตรแทน และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยส่งหนังสือมายังกระทรวงสาธารณสุขซึ่งขณะนั้นกำลังร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ซึ่งนำหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้) ข่มขู่ว่า กฎหมายทั้งสองฉบับอาจละเมิดความตกลง TRIPs ภายใต้ WTO
การร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยที่นำหลักการการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ผลักดันกฎหมายในลักษณะดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่พอใจของบรรษัทข้ามชาติและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยใช้ทรัพยากรชีวภาพของประเทศอื่นโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์มาโดยตลอด (ดังที่จนถึงบัดนี้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่ยอมให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ)
BIOTHAI ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อภาษาไทยว่า “เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย” จึงได้ร่วมกับ GRAIN และองค์กรระหว่างประเทศที่เคลื่อนไหวการปกป้องสิทธิเกษตรกร สิทธิชุมชนท้องถิ่น และอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ จึงได้จัดประชุมระดับโลกขึ้นในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อยืนยันว่า ภายใต้ความตกลง TRIPs ของ WTO นั้น ประเทศไทยสามารถออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องคุ้มครองพันธุ์พืชตามแบบที่ UPOV กำหนดที่ให้มีการคุ้มครองพันธุ์พืชเฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น
คำประกาศ “The Thammasat Resolution” (โปรดดูลิงค์ https://www.grain.org/article/entries/300-towards-our-sui-generis-rights) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย การร่างกฎหมาย Biodiversity Law No. 7788 (1998) ของประเทศคอสตาริกา การร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย (1999) และกระบวนการร่างกฎหมาย The Protection of Plant Varieties and Farmers’ Rights Act (2001) ของอินเดีย กลายเป็นการเริ่มต้นของประเทศโลกที่สาม ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ ในการไม่ยอมรับกติกาที่บรรษัทและประเทศอุตสาหกรรมผลักดัน
กล่าวโดยสรุป พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เป็นการประนีประนอม ร่างขึ้นโดยหลัก Sui Generis (เอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ) ภายใต้ WTO โดยด้านหนึ่งเป็นการให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ บริษัทเอกชนและรัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมเรียกร้อง กับการรับรองสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ สิทธิของชุมชนเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมือง และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการบริหารกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการให้แรงจูงใจแก่นักปรับปรุงพันธุ์/บริษัทเมล็ดพันธุ์ กับ การคุ้มครองเกษตรกรและชุมชนในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร
ไบโอไทยซึ่งอยู่ร่วมในกระบวนการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มาตั้งแต่ต้น ติดตามการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพ และการขยายบทบาทของบรรษัทในการผูกขาดพันธุ์พืช เห็นความพยายามของบุคคลบางกลุ่มทั้งๆที่อยู่ในระบบราชการหรือที่ออกจากระบบราชการไปอยู่กับภาคเอกชน หรือกลุ่มบรรษัทข้ามชาติเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการฉีกทิ้งกฎหมายฉบับนี้ หรืออย่างน้อยก็แก้ไขกฎหมายนี้เพื่อลดทอนสิทธิของเกษตรกรและชุมชน มาโดยต่อเนื่อง