วานนี้ (10 ต.ค.2560) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 12-14 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักขึ้นอีก จึงได้สั่งการให้กรม ชล ประทานติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินจุดวิกฤต นอกจากนี้ยังได้สั่งการ เพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องมือระบายน้ำตามพื้นที่สำคัญหรือพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆแล้ว โดยคาดการณ์ว่าหากปริมาณฝนไม่มากจนเกินไป จะบริหารจัดการน้ำได้ตามเป้าที่วางไว้
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานกังวลฝนระลอกใหม่ที่จะเข้ามา จึงเพิ่มการระบายน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะลุ่มเจ้าพระยาเขื่อนใหญ่ 4 แห่ง มีน้ำเกือบเต็มความจุเขื่อนแล้ว มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,497 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่าง รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,052 ล้าน ลบ.ม.สามารถรองรับน้ำได้อีก 6,394 ล้าน ลบ.มด้าน
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ปรับแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากขึ้น จากแผนเดิม 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างยังคงมีฝนตกชุกกระจาย ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ อย่างต่อเนื่อง และจะคงการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวต่อเนื่องไปประมาณ 1 สัปดาห์ ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา จะค่อยๆเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 80 เซนติเมตร ถึง 1.20 เมตร
กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์น้ำเหนือที่จะเข้าพื้นที่ กทม.อยู่ที่ 2,160 ลบ.ม.ต่อวินาที และแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่จะสามารถรองรับน้ำปริมาณดังกล่าวได้ทั้งหมด แต่ยังต้องเฝ้าระวังบ้านเรือนประชาชน ที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนรุกล้ำที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ 18 ชุมชน 430 ครัวเรือน ในพื้นที่ 10 เขต
นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำหนุนในเดือนต.ค.นี้น้ำจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 -18 ต.ค.นี้ ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำเหนือแล้ว จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่แนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถที่จะรองรับได้
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชันที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ หลายพื้นที่มีแนวโน้มอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่ม และดินถล่ม จึงได้ประสาน 53 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย แยกเป็น ภาคเหนือ 15 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 8 จังหวัด และภาคภาคใต้ 7 จังหวัด