วันนี้ (11 ต.ค.2560) นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝนจึงควรระวังสัตว์มีพิษชนิดต่างๆ โดยเฉพาะงู ส่วนใหญ่งู ที่อาศัยอยู่ตามสภาพแวดล้อมใกล้ตัว ทั้งบริเวณสวนข้างบ้าน ทุ่งหญ้า ป่า หรือในน้ำเป็นงูไม่มีพิษ สำหรับงูพิษที่พบผู้ถูกกัดอยู่บ่อยครั้ง มี 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา หากถูกงูกัดจะต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นงูมีพิษหรือไม่
โดยทั่วไปจำแนกพิษของงูได้เป็น 4 ประเภท คือ พิษต่อระบบประสาท ได้แก่ พิษของงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม ผู้ที่ได้รับพิษจะเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ลืมตาไม่ได้ กลืนลำบาก และอาจทำให้หยุดหายใจจนเสียชีวิตได้ พิษต่อโลหิต ได้แก่ พิษของงูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ ทำให้มีเลือดออกตามที่ต่างๆ ตามผิวหนัง เหงือก อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
ส่วนกลุ่มพิษต่อกล้ามเนื้อ คือ พิษงูทะเล ทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะสีดำเนื่องจากกล้ามเนื้อถูกทำลาย และพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่พิษงูเห่า งูจงอาง ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น แขนขาหมดแรง กระวนกระวาย ลิ้นแข็ง น้ำลายมากกลืนลำบาก เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ และเสียชีวิตได้
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษา ต้องประเมินผู้ป่วยและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการซักประวัติ ตำแหน่งที่ถูกงูกัด สถานที่ที่ถูกงูกัด อาการที่เกิดขึ้น รวมถึงชนิดของงูหรือการนำซากงูมาเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่แพทย์ในการรักษาต่อไป นอกจากนี้ควรรีบทำความสะอาดบริเวณแผลที่ถูกงูกัด และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือบริเวณที่รกมีหญ้าสูง โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านควรใส่รองเท้าหุ้มข้อเท้า ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว เตรียมไฟฉาย เพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ
อ่านข่าวเพิ่มเติม