เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.2560) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้เตรียมร่างกฎหมายลำดับรอง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการประมงปี 2558 ซึ่งกรมประมงจะมีอำนาจอย่างชัดเจนในการควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น เพื่อป้องกันการนำเข้าและลักลอบการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีย์ เป็นการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ โดยกรมประมงไม่ได้กำหนดห้ามนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นทุกชนิด การที่จะนำเข้าจะต้องให้คำตอบได้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำชนิดนี้ และมีวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะ
สำหรับมาตรการที่จะออกมากำหนดบทลงโทษ หากพบผู้ใดกระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดลอดลงแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ กรมประมงจึงได้สั่งการให้สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศได้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงผลเสียจากการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น และรณรงค์ให้ประชาชนที่นิยมปล่อยปลาทำบุญเนื่องในโอกาสต่างๆ หันมาปล่อยปลาสายพันธุ์ไทยแท้เพื่อช่วยรักษาสมดุลให้กับระบบนิเวศอีกด้วย
โดยที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีปัญหาทั้งจากปลาซักเกอร์ หอยเชอร์รี่ เต่าญี่ปุ่น รวมถึงปลาหมอสีคางดำ และปลาพีคอกแบส โดยกรณีปลาหมอสีคางดำจะถูกเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด โดยกรมประมงมีนโยบายกำจัดปลาชนิดนี้และไม่ส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกราน
สำหรับรายชื่อชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง หรือ IBC ประมาณ 69 รายการ อาทิ ปลาหนวดตัวดำ ปลาจระเข้ปากสั้น ปากยาว กุ้งแคระ ปลาหมูไฟฟ้า ปลาซักเกอร์ ปลาจิ้งจกลายเสือ กุ้งแคระขาว กุ้งแคระทับทิม เครย์ฟิช ปลาหมอสี เป็นต้น