ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กรมชล" มั่นใจแผนระบายน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนพ้นวิกฤต 2-3 วันนี้

ภัยพิบัติ
29 ต.ค. 60
17:23
447
Logo Thai PBS
"กรมชล" มั่นใจแผนระบายน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนพ้นวิกฤต  2-3 วันนี้
อธิบดีกรมชลประทาน มั่นใจแผนการระบายน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และท่าจีน จะคลี่คลายในอีก 2-3 วันเนื่องจากฝนพื้นที่ตอนบนลดลง เร่งระบายน้ำลงทะเลได้เร็วขึ้น ส่วนต้นพ.ย.นี้เริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งรับน้ำทั้ง 12 แห่ง

วันนี้ (29 ต.ค.2560) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วม พบว่าบ้านเรือนของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทับตีเหล็ก อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ยังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ต่อเนื่องเป็นเดือนแล้ว จากการสำรวจของทีมข่าว พบว่าลักษณะน้ำท่วมขัง เริ่มเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น ประชาชนที่อยู่บริเวณนี้ ให้ข้อมูลว่าระดับน้ำยังคงทรงตัว และมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย

ส่วนที่อำเภอสองพี่น้อง บ้านเรือนประชาชน ในตำบลบ้านกุ่ม ยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมขังสูง เกือบ 2 เมตรต่อเนื่อง กว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งลักษณะพื้นที่นี้ เป็นลุ่มต่ำ ติดริมแม่น้ำท่าจีน และคลองพระยาบันลือบัน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ท้ายน้ำ ที่นี่ก็มีสภาพน้ำทรงตัว ระดับน้ำลดลงประมาณ 3 เซนติเมตร

ส่วนแปลงนาข้าว หลายแห่งในอำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง ที่ชาวบ้านยังไม่ได้ทำนา ทางชลประทานได้ผันน้ำมาลงไว้ เพื่อชะลอน้ำ ก่อนผันลงแม่น้ำท่าจีน

 

 

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนระดับน้ำยังทรงตัว มวลน้ำที่นำไปพักไว้พื้นที่ลุ่มต่ำ โดยมั่นใจว่าภายใน 2-3 วัน คาดว่าระดับน้ำจะลดลงตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ 50 ลำ และเรือของกรมชลประทานอีก 53 ลำสามารถผลักดันน้ำได้เกือบ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ประกอบกับภาคประชาชนก็ช่วยแจ้งเตือนสถานการณ์ และมีการกำจัดผักตบชวา

ทั้งนี้ภาพรวมฝั่งท่าจีนไม่มีปัญหาแล้ว ต่อไปจะลดฝั่งตะวันออก ระบายทางฝั่งชัยนาท -ป่าสัก และในแม่น้ำเจ้าพระยา 5 วันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะเริ่มเบาบางลง เพราะน้ำเหนือที่มาจากฝนตกหนัก ฝนเริ่มลด โดยการระบายน้ำเหนือที่ปล่อยจากเขื่อนเจ้าพระยา จุดสูงสุดผ่าน กทม.ตั้งแต่วันที่ 25-26 ต.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนลดลงแล้ว คาดว่ามวลน้ำที่รวมกันอยู่ทั้งหมดมีปริมาณ 1,100 ล้านลบ.ม.เท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  

 

 

นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้กรมชลประทาน จะเริ่มทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ เป็นแห่งแรก ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ จะทยอยระบายน้ำออกจากทุ่งทั้ง 12 แห่ง ให้เหลือร้อยละ 20 เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอ สำหรับทำการเกษตรตลอดฤดูกาลนอกจากนี้ 

ยืนยันน้ำที่ท่วมในพื้นที่ภาคกลางเป็นระดับสูงสุดแล้ว จะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้ และจะควบคุมพื้นที่น้ำท่วมให้อยู่ในวงจำกัดการระบายน้ำ ตามเส้นทางแม่น้ำท่าจีน จากจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และออกสู่อ่าวไทย กรมชลประทาน ยืนยันว่า จะคลี่คลายในอีก 2-3 วันนี้ 

ขณะที่ชาวบ้าน ตำบลดอนลาน อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยอมรับว่า อำเภอผักไห่ เป็นที่ราบลุ่มต่ำ เผชิญน้ำท่วมทุกปีจนคุ้นชิน โดยแต่ละปีระดับน้ำไม่เกิน 1 เมตร แต่ปีนี้ระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร 30 เซนติเมตร เพราะน้ำฝนและน้ำเหนือที่มีมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง

ส่วนอำเภอบางปะอิน เป็นอีกอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากการเร่งปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 เมตรครึ่ง ท่วมเข้าชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้ว 11 ตำบล 79 หมู่บ้าน 6,000 ครัวเรือน 

 

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีน ขณะนี้ยังทรงตัวระดับ 5 เมตร 75 เซนติเมตร และต่ำกว่าขอบตลิ่งเพียงแค่ 10 เซนติเมตร ส่วนน้ำเหนือประตูระบายน้ำ โพธิ์พระยา อยู่ที่ 6 เมตร 70 เซนติเมตร ระดับน้ำอยู่เหนือถนน ประมาณ 10 เซนติเมตร น้ำระบายแรงๆ ออกจากท่อขนาดใหญ่

ขณะที่ประตูระบายน้ำคลองพระยาบันลือ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ 15 ตัว เดินเครื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แยกมาจากอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ภาพรวมขณะนี้ บางปลาม้า สองพี่น้องและเดิมบางนางบวช มีครัวเรือนได้รับผลกระทบกว่า 12,000 ครัวเรือน หรือ กว่า 43,000 คน บ่อกุ้งกว่า 2,000 ไร่ บ่อปลากว่า 1,200 ไร่และ กระทบนาข้าวกว่า 20,000 แปลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง