บริษัท อัครารีซอสเซส จำกัด เริ่มสำรวจแร่ในพื้นที่ภูเขาหม้อ รอยต่อ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2530 และก่อสร้างโรงงานประกอบโลหกรรมปี 2543 โดยใช้ชื่อว่า "เหมืองทองชาตรี" มีผู้ลงทุนเป็นคนไทยร้อยละ 52 อีกร้อยละ 48 เป็นบริษัทในกลุ่มคิงส์เกต สัญชาติออสเตรเลีย
แต่ปี 2544 เริ่มมีประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบภูเขาหม้อ ร้องเรียนถึงผลกระทบด้านเสียงและฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลังจากการระเบิดภูเขาเพื่อขุดหาสินแร่ ต่อมาเดือนมกราคม 2558 อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) มีคำสั่งให้บริษัทเอกชนหยุดโรงประกอบโลหกรรมเป็นเวลา 30 วัน หลังจากพบผลตรวจสุขภาพของชาวบ้านกว่า 400 คน มีสารแมงกานิสและสารหนูในเลือดเกินค่ามาตรฐานแต่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทำให้สามารถเปิดกิจการได้ชั่วคราว
ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ให้ปิดเหมืองทองชาตรี มีผล 1 มกราคม 2560 แต่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ที่เป็นบริษัทแม่ก็ยังคงเดินหน้าเจรจาเพื่อเปิดกิจการและออกแถลงการณ์หลังมีคำสั่งปิดเหมืองเพื่อขอค่าชดเชยความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่รัฐบาลไทยลงนามไว้ พร้อมกับข้ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเพื่อให้ระงับข้อพิพาทนี้
ล่าสุดนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหนังสือชี้แจงกรณีมีใจความว่า หลังรัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทเอกชน ขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเตรียมการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กระบวนการนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังสามารถเจรจาหาข้อยุติที่ยอมรับร่วมกันต่อไป โดยรัฐบาลยังไม่ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของคิงส์เกต