วันนี้ (6 พ.ย.2560) เฟชบุ๊ก siamensis.org ได้เผยแพร่ข้อมูลการพบ "หนอนตัวแบนนิวกินี" หนอนที่มีถิ่นกำเนิดในนิวกินี และออสเตรเลีย และถูกจัดอันดับจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น เป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก
ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถาม ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ กลุ่ม siamensis.org กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่ามีการแพร่กระจายของหนอนตัวแบนนิวกินีจริง และเป็นรายงานครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีระบาดในประเทศที่เป็นแผ่นดิน หลังจากเคยพบการระบาดในเกาะสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างหนอนชนิดนี้ มาวิจัยและศึกษาพฤติกรรมอย่างละเอียดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว
ดร.นณณ์ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เริ่มจากนายมงคล อันทะชัย ได้ส่งภาพภาพหนอนตัวแบนนิวกินี กำลังกินหอยทากในบริเวณบ้านแถบ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด ซึ่งอาจารย์ยิ่งยศ ลาภวงศ์ ได้ระบุชนิดว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี จึงเดินทางไปตรวจสอบร่วมกับนายจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ได้ตามไปเก็บตัวอย่างที่บ้านคุณมงคลเพื่อยืนยัน จนมั่นใจว่าเป็นชนิดดังกล่าวจริงๆ
ยอมรับว่าช็อก เพราะบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นบ้านจัดสรร เจ้าของปลูกผัก ทำให้มีหอยทากหลายสายพันธ์ุมาอาศัยอยู่ และพบว่า 2-3 ก้าวเดิน ก็จะเจอหนอนตัวแบนนิวกินีกระจายตัวอยู่เยอะไปหมด แบบนี้เรียกว่ามีการแพร่กระจายแล้ว และที่น่าขนลุกคือเราลองสับหนอนเป็น 4 -5 ชิ้นพวกมันฆ่าไม่ตาย มันตัวขาดก็จะสามารถเติบโตแยกร่างได้ จึงเก็บตัวพวกมันมาทดลองว่าจะเติบโตอย่างไร
นักวิชาการ บอกอีกว่า หนอนชนิดนี้เป็น 1 ใน 100 เอเลียนสปีชีส์ที่คุกคามระบบนิเวศระดับโลก เคยมีรายงานรุกรานในฝรั่งเศส รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และใกล้ไทยที่สุดคือสิงคโปร์ พบว่าหนอนตัวแบนนิวกินี ไม่ได้ล่าแต่หอยทากยักษ์ แต่กลับไล่ล่าหอยทากเฉพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ โดยหนอนชนิดนี้มีสองเพศในตัวเดียว แต่การสืบพันธุ์ต้องมีหนอนสองตัวจึงจะวางไข่ได้ เมื่อโตเต็มที่แล้วมีลำตัวยาวประ มาณ 5-6 เซนติเมตร ปลายแหลมทั้งสองด้าน แต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า สีด้านหลังเป็นสีน้ำ ตาลเข้ม และมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลาง ลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็กๆค่อนไปทางด้านหางซึ่งเป็นส่วนปาก หนอนชนิดนี้กินหอยทาก เป็นอาหารหลัก กินไส้เดือนด้วย ในการกินหอยทากนั้น หนอนจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนที่จะดูดกินเข้าไป
ที่น่าห่วงคือหนอนตัวแบนนิวกินี ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อ Angiostrongylus cantonensis หรือพยาธิปอดหนู พยาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้ โดยพยาธิชนิดนี้มีหนูเป็นพาหะหลักจึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดเชื้อและตายลง ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิจะมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้ อาเจียนพุ่ง คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น แต่ถ้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงสามารถนำไปสู่อาการเรื้อรังของโรคจนอาจทำให้เสียชีวิตได้
โดยพยาธิหอยโข่ง พยาธิปอดหนู มีหอยทากยักษ์แอฟริกา และหอยในกลุ่มหอยโข่ง หอยขม ซึ่งพยาธิจะเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางการกิน จึงควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุก รวมไปถึงล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทาก และหนอนตัวแบนอาศัยอยู่ให้ดี ก่อนรับประทานหรือรับประทานเฉพาะผักที่สุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้ม หรือกรองมาก่อนโดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่ ส่วนกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินี เบื้องต้นใช้น้ำร้อนลวก หรือหยอดด้วยเกลือป่น ห้ามใช้การสับ หรือหั่น เพราะแต่ละชิ้นจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้ และจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก
ดร.นณณ์ บอกอีกว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินว่าหนอนตัวแบนนิวกินี แพร่กระจายในพื้นที่ไหนบ้างแล้ว และหน่วยงานควบคุมโดยเฉพาะก็ยังไม่มี ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสผ.ได้ทำบัญชีอัพเดท เอเลียนสปีชีส์ที่รุกรานในไทยเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีรายงานพบหนอนตัวแบบนิวกินี มาก่อน เบื้องต้นอยากให้มีหน่วยงานเข้ามาศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อวางมาตรการในการป้องกัน ก่อนที่จะซ้ำรอยกรณีหอยเชอรี่ ปลาซักเกอร์ และผักตบชวาที่มีการแพร่ระบาดในระบบนิเวศ จนควบคุมได้ยาก
ทั้งนี้นักวิชาการ บอกว่าหากใครพบหนอนตัวแบนนิวกินี ขอให้รายงานมาที่กลุ่มสยามเอ็นสิส ผ่านทาง FB กลุ่มที่ siamensis.org หรือผ่านทางกลุ่มไลน์งูเข้าบ้านที่ @sde5284v โดยขอให้ถ่ายภาพและระบุสถานที่พบเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการต่อไป
คลิปวีดีโอและภาพจาก siamensis.org