ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิสูจน์ 1 สัปดาห์สับ-แยกชิ้น "หนอนเอเลียน" ยังไม่ตาย

สิ่งแวดล้อม
8 พ.ย. 60
16:26
94,852
Logo Thai PBS
พิสูจน์ 1 สัปดาห์สับ-แยกชิ้น "หนอนเอเลียน" ยังไม่ตาย
กลุ่ม siamensis.org เผยพบข้อมูลหนอนตัวแบนนิวกินีใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน และ จ.สงขลา อีก 2 จุด จี้ สผ.เร่งหาทางควบคุมก่อนระบาดทั่วประเทศ ออกกฎต้องกำจัดทิ้ง ด้านนักวิชาการตะลึงร่างถูกสับ 4 ท่อนผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ยังมีชีวิต

กรณีพบ "หนอนตัวแบนนิวกินี" หนอนที่มีถิ่นกำเนิดในนิวกินีและออสเตรเลีย และถูกจัดอันดับจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น เป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก โดยในวันนี้ (8 พ.ย.2560) ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือกลุ่ม siamensis.org เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากสื่อได้นำเสนอข้อกังวลการค้นพบหนอนตัวแบนนิวกินีไปแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดติดต่อหรือสอบถามมา แต่มีกลุ่มนักวิชาการส่งข้อมูลรายงานการเจอตัวหนอน พร้อมกับภาพมาเพิ่มเติมคือที่หลังอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน และอีกจุดที่ จ.สงขลา ซึ่งชัดเจนว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านจาก จ.นครราชสีมา ส่งภาพมาให้กลุ่มตรวจสอบ แต่สรุปเป็นแค่หนอนริบบอน หนอนท้องถิ่นของไทย

 

ดร.นณณ์ กล่าวว่า มีความจำเป็นมากที่ต้องควบคุมให้ได้ เพราะไทยเป็นเกตเวย์เป็นแผ่นดินที่อยู่ติดกับหลายชาติทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา หากหนอนชนิดนี้มีการแพร่กระจายออกไปจะหมายถึงการระบาดของทั้งเอเชียและของโลก เพราะมันเคยระบาดที่ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ดังนั้นอยากจัดทีมสำรวจเชิงลึกว่ามีการระบาดไประดับไหน รวมทั้งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ซึ่งดูนโยบายเอเลียนสปีชีส์ ต้องบรรจุการระบาดของหนอนชนิดนี้และจัดให้เป็นลำดับแรกของชนิดที่รุกรานในไทย

สิ่งที่ห่วง คือ คนอาจจะมองว่ามันเป็นข้อดีที่กำจัดหอยทาก เพราะถ้าเห็นแบบนั้นจะไม่ทำอะไรและจะควบคุมไม่ได้ เพราะมันไม่ได้กินแค่หอยทากเป็นอาหาร แต่กินไส้เดือนและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยหน้าดินจะหมด หน่วยงานควบคุมต้องออกกฎให้กำจัด 

 

1 สัปดาห์ "หนอนเอเลียน" สับแยกร่างยังไม่ตาย 

ด้านนายจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล นักศึกษาปริญญาโท คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า หลังจากการเก็บตัวอย่างหนอนตัวแบนนิวกินีมาไว้ที่ห้องปฏิบัติการในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ได้มีการควบคุมความชื้น เพราะถ้าอากาศแห้งมากเกินไปจะทำให้หนอนตัวแบนนิวกินีตายได้

ส่วนหนอนตัวแบนนิวกินีที่ถูกตัดออกเป็น 4 ส่วน ยังมีการเดินอยู่ หมายความว่าทั้ง 4 ส่วนยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของปลิง หากถูกตัดเป็น 2 ท่อน ส่วนหัวจะยังมีชีวิตอยู่และเดินต่อไปได้ แต่ส่วนท้ายจะสามารถเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยแล้วหยุดไปหรือตายนั่นเอง

ตอนนี้มั่นใจถึงร้อยละ 60–70 ว่าทั้ง 4 ส่วนที่ถูกตัดของหนอนตัวแบนนิวกินีนี้จะมีชีวิตอยู่แล้วงอกเป็นตัวใหม่ แต่ยังอยู่ในระยะสังเกตการณ์ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการงอกใหม่จนสมบูรณ์ ส่วนเรื่องผลกระทบต้องมีแน่นอนอยู่แล้วเพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่นและติด 1 ใน 100 ชนิดสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุด แต่ผลกระทบจะมากหรือน้อยต้องรอดูกันต่อไป

นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า หนอนตัวแบนนิวกินีก็เหมือนกับผักตบชวา หรือหอยทากยักษ์แอฟริกา ที่ในช่วงแรกอาจไม่น่ากังวัล แต่ต่อมาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ขณะนี้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ากินทากทั้งมีเปลือกและไม่มีเปลือกเป็นอาหาร ส่วนผลกระทบกับสัตว์อื่นยังไม่ทราบแน่ชัด จึงอยู่ในขั้นเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาด แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีงบประมาณหรือ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการแพร่กระจายของสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้ จึงอาจต้องประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามผลกระทบในด้านต่างๆ ให้ชัดเจน

 

เจ้าของบ้าน ระบุยังไม่กังวลควบคุมได้  

ด้านนายมงคล อันทะชัย เจ้าของบ้านที่พบการระบาดของหนอนตัวแบนนิวกินีในเขต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี บอกว่า ไม่ค่อยกังวลมากนักแม้นักวิชาการจะบอกว่าหนอนที่พบในบ้านเป็นอันตราย โดยคิดว่ายังอยู่ในการควบคุมและกำจัดได้ โดยใช้เกลือกับน้ำร้อนลวกให้ตาย เบื้องต้นพบประมาณวันละ 10 ตัวขึ้นไป แต่มันจะอยู่ตามพื้นที่ชื้นแฉะ ตามใบไม้และออกมาหากินในช่วงเวลากลางคืนเพื่อกินหอยทาก

ผมคิดว่าการเจอหนอนตัวแบนนิวกินีในบ้าน ยังไม่กระทบกับการใช้ชีวิต เพราะยังไม่ได้เข้ามารุกรานถึงในบริเวณบ้าน ส่วนใหญ่จะพบแต่บริเวณพื้นดิน ตามกิ่งไม้ใบไม้แห้ง ที่ชื้นแฉะ จึงยังไม่รู้สึกว่าจะเป็นอันตราย แต่อาจจะห่วงเรื่องระบบนิเวศที่จะถูกหนอนรุกรานจนเสียหายจากข้อมูลทางวิชาการ 

ผมเคยเจอตัวหนอนชนิดนี้มาสักระยะหนึ่ง แต่ไม่คิดว่าจะเป็นหนอนที่มีอันตรายต่อระบบนิเวศ เพียงแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา รู้สึกแปลกใจที่เห็นหนอนหลายตัวกำลังรุมกินหอยทากอยู่ จึงได้ส่งภาพหนอนตัวแบนนิวกินีให้กับทางกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ จนกระทั่งมีการนำเสนอว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี ทั้งนี้หากจะมีหน่วยงานไหนเข้ามาตรวจสอบก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ตะลึงเอเลี่ยนสปีชีส์ "หนอนตัวแบนนิวกินี" โผล่ไทย -ติด 100 ชนิดรุกรานที่สุดของโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง