วันนี้ (20 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการพบการระบาดของหนอนตัวแบนนิวกินี 1 ใน 100 ชนิดพันธ์ุต่างถิ่นที่รุกรานของโลก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ส่วนวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ ฝ่ายวิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ได้สำรวจหนอนตัวแบนนิวกินี ในพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเก็บข้อมูลการกระจายพันธุ์ของหนอนดังกล่าว โดยเน้นสำรวจบริเวณพื้นที่ที่มีความชื้น เช่น กระถางต้นไม้ โคนต้นไม้ และพื้นดินที่ชื้นแฉะ ผลการสำรวจไม่พบหนอนตัวแบนนิวกินีในพื้นที่แต่อย่างใด
ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ เตรียมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยาน เร่งสำรวจหนอนตัวแบนนิวกินี ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง และหากพบหนอนชนิดดังกล่าวให้แจ้งมาที่ส่วนวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ ฝ่ายวิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ เพื่อเป็นข้อมูลแจ้งให้ทางสำนักกอง ทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.เพื่อกำหนดแนวทาง เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมหนอนตัวแบนนิวกินี และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชนต่อไป
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยกีฏวิทยาป่าไม้ ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับหนอนตัวแบนนิวกินี ในรูปแบบใบปลิว ผู้ใดมีข้อสงสัยหรือมีข้อมูลการพบเห็นหนอนดังกล่าว สามารถแจ้งได้ที่ช่องทาง Facebook : ส่วนวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ หรือทางไลน์กลุ่มหนอนตัวแบนนิวกินี line : @gbw4880w
อ่านข่าวเพิ่มเติม
พิสูจน์ DNA เส้นทางการระบาดหนอนตัวแบนนิวกินี
ตะลึงเอเลี่ยนสปีชีส์ "หนอนตัวแบนนิวกินี" โผล่ไทย -ติด 100 ชนิดรุกรานที่สุดของโลก