วันนี้ (22 พ.ย.2560) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้มายื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องกรณีคลื่น 2300 MHz กับทางสำนักงาน กสทช.ในช่วงที่มีการประชุม กสทช.จึงได้ให้ผู้แทนไปรับ ซึ่งในเรื่องคลื่น 2,300 MHz สำนักงาน กสทช.ได้บรรจุวาระให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคมได้พิจารณาในช่วงเช้าแล้ว เพื่อจะได้บรรจุเข้าวาระการประชุม กสทช.ในวันนี้ แต่ในชั้นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ยังมีประเด็นข้อสงสัยในหลายเรื่องที่จะซักถาม จึงมีมติให้ผู้แทนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ ในประเด็นต่างๆ ในวันจันทร์ที่ 27 พ.ย.2560 เวลา 13.00 น.
สำหรับกรณีการให้บริการไลน์โมบาย (Line Mobile) ได้มีมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านโทรคมนาคม ได้เห็นชอบรายงานผลการศึกษาของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการให้บริการไลน์โมบาย
(Line Mobile) ตามที่สำนักงาน กสทช.เสนอ ดังนี้
1. จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นนี้ เห็นว่าการให้บริการไลน์โมบาย (Line Mobile) เป็นการให้บริการโดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
มิใช่เป็นการให้บริการโดยบุคคลอื่นหรือบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ในลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง หรือ MVNO
2. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการไลน์โมบายให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของ กสทช.ในเรื่องดังต่อไปนี้
2.1 ลงทะเบียนผู้ใช้บริการ (ซิมการ์ด) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานกระบวนการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการ
2.2 ดำเนินกระบวนการโอนย้ายเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ให้มีลักษณะดังเช่นการเปลี่ยนแพ็คเกจภายในบริษัทเดียวกัน มิใช่การย้ายค่ายเบอร์เดิม
2.3 แก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมการให้บริการเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจโดยชัดแจ้งว่า บริการไลน์โมบายเป็นการให้บริการของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เช่น การโฆษณาผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง เว็บไซต์ที่เป็นช่อง
ทางการซื้อซิมการ์ดและติดต่อบริการ การใช้ชื่อโครงข่าย (Network Name) เป็นต้น
ทั้งนี้ หากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว ให้ดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองแก่บริษัทต่อไป และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ติดตามและรายงานผลต่อ กสทช.เป็นระยะๆ
ทุก 1 เดือน
3. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการให้บริการไลน์โมบายอย่างใกล้ชิด หากปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าการให้บริการไลน์โมบายอาจจะเข้าข่ายเป็นการให้บริการในลักษณะ MVNO ให้รีบรายงานให้ กสทช.ทราบเพื่อพิจารณาต่อไป
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับผลการประชุม กสทช.ที่สำคัญในวันนี้ ที่ประชุม กสทช.ได้พิจารณาแนวทางการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวนประมาณ 15,732 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ช่วงที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันในพื้นที่ 24,700 หมู่บ้าน โดยทางสำนักงาน กสทช.ได้จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษา
ราคากลางและจุดที่จะให้บริการ
โดยกรอบที่ศึกษาที่ได้วางกรอบไว้ คือแนวทางที่ 1 ดำเนินการตามกรอบแนวทางที่ กสทช.ดำเนินการในส่วนของโครงการ USO เน็ตชายขอบที่ดำเนินการอยู่ว่าจะต้องใช้กรอบวงเงินในการดำเนินการเท่าไหร่ โครงการ USO เน็ตชายขอบที่ กสทช.ดำเนินการต้องมีอัตราค่าบริการไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน จะต้องมีการรับประกัน 5 ปี โครงข่ายต่างๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นมาจะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ สถานที่ราชการของรัฐ ในพื้นที่ให้บริการจะต้องเปิดจุดเชื่อมต่อสัญญาณให้ฟรี ซึ่งจากการศึกษาถ้าจะดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ตามเงื่อนไขนี้ จะต้องใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท ในการดำเนินการ แนวทางที่ 2 ดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการขยายโครงข่าย และติดตั้งอุปกรณ์จุดบริการ Wi-Fi โดยมีระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการ 1 ปี ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันกรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,283.155 ล้านบาท แนวทางที่ 3 กรณีดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ แต่เพิ่มระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการเป็น 5 ปี จะใช้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 7,119.946 ล้านบาท
โดยที่ประชุม กสทช.ได้พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้ 1. เนื่องจากมาตรา 50 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่บัญญัติให้ กสทช.มีอำนาจมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมทั้งหมดหรือบางส่วนแทนได้ และในกรณีเช่นนั้นให้ กสทช.โอนเงินที่เรียกเก็บได้ตามที่กำหนดให้แก่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป ประกอบกับเพื่อให้การดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ 24,700 หมู่บ้าน กับในส่วนที่ กสทช.รับผิดชอบจำนวนประมาณ 15,732 หมู่บ้าน เป็นไปตามขอบเขตและเงื่อนไขเดียวกัน ดังนั้น จึงมีมติเห็นชอบให้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการในพื้นที่ Zone C ตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโดยมีระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการ 1 ปี ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,283.155 ล้านบาท และให้ กสทช.โอนเงินไว้ให้แก่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อดำเนินการต่อไป
2. ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่รับดำเนินการ ให้สำนักงาน กสทช.เร่งดำเนินการจัดประกวดราคา เพื่อจัดให้มีการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ตามขอบเขตและเงื่อนไขเดียวกัน เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและ Wi-Fi สาธารณะได้ครบทุกหมู่บ้านภายในสิ้นปี 2561