วันนี้ (23 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ สั่งการให้อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ดำเนินการจัดเรือผลักดันน้ำ พร้อมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ลงพื้นที่ อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม และ อ.เมือง จ.เพชรบุรี อย่างเร่งด่วน หลังจากเกิดฝนตกหนัก อันเนื่องมาจากพายุคีโรกี ทำให้ต้องมีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนเพชรบุรี ลงสู่ต้นแม่น้ำเพชรบุรี อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งและทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
ขณะที่ขบวนรถลำเลียงเรือผลักดันน้ำขบวนแรก ได้ออกเดินทางจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ไปยัง จ.เพชรบุรี เมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) เวลา 23.30 น. ซึ่งประกอบไปด้วยรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ 18 คัน รถยนต์บรรทุก 1 คัน และรถนำขบวน 1 คัน ลำเลียงเรือผลักดันน้ำ 15 ลำ และตู้คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ ส่วนขบวนที่ 2 ลำเลียงเรือผลักดันน้ำอีก 15 ลำ ออกเดินทางเมื่อช่วงเช้ามืดของวันนี้ โดยขบวนรถลำเลียงเรือผลักดันน้ำทั้ง 30 ลำ ได้เดินทางถึงพื้นที่ และดำเนินการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ติดตั้งบริเวณวัดคุ้งตำหนัก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งคาดว่าจะเดินเครื่องในการเร่งระบายน้ำได้ในช่วงเย็นของวันนี้
สำหรับเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ในการสร้างเรือผลักดันน้ำที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน
ทั้งนี้ เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว