วันนี้ (23 พ.ย.2560) นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองจำนวน 3 ฉบับ เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวนกว่า 2 ล้านคน ประ กอบด้วย 1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ.. และ 3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ...
ล่าสุด สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยืนยันการปรับสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ตามที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปต้องรอให้สำ นักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำเรื่องเข้าครม.เพื่อมีมติเพื่อทราบอีกครั้ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะทันภายในสิ้นปี 2560 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกันตนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน นอกระบบกว่า 20 ล้านคนในปี 2561 ที่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือกใหม่ได้
เปิดสิทธิประกันสังคมทางเลือกใหม่ตาม ม.40
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ สาระสำคัญโดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์รวมถึงเพิ่มทางเลือกใหม่ (ทางเลือกที่ 3) สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ให้ใกล้เคียงกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้แก่ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท
สำหรับกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเบิกได้ตั้งแต่วันแรกที่นอนโรงพยาบาล และกรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้วันละ 200 บาท รวมกรณีนอนและไม่นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 30 วันต่อปี กรณีไปพบแพทย์ และมีใบรับรองแพทย์ (ไปเช้ากลับเย็น) ให้ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละ 50 บาท แต่ไม่เกินคนละ 3 ครั้งต่อปี เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตาย 3,000 บาท เมื่อส่งสมทบมาแล้ว 60 เดือน
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มทางเลือกใหม่ (ทางเลือกที่ 3) หากเลือกจ่ายสมทบ 300 บาท รัฐบาลสมทบ 150 บาท โดยเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เมื่อนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 300 บาท และไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่แพทย์ให้หยุดพักรักษา ตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ในอัตราวันละ 200 บาท รวมกรณีนอนและไม่นอนโรงพยาบาล รวมกันไม่เกิน 90 วันต่อปี กรณีตายค่าทำศพ 40,000 บาท ส่วนกรณีสงเคราะห์บุตร อัตราคนละ 200 บาทต่อเดือนคราวละ 2 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี
บริการสมัคร-จ่ายเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ
กรณีชราภาพเงินบำเหน็จชราภาพ เดือนละ 150 บาทพร้อมดอกผล หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 10,000 บาท ทั้งนี้ข้อดีของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ ไม่ต้องมีการตรวจสุขภาพ และยังสามารถใช้สิทธิการรักษาบัตรทองได้ หากขาดการนำส่งเงินสมทบ ก็ยังเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต่อได้ และรัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบกับผู้ประกันตน
ทั้งนี้การสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผู้สมัครใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถดำเนินการได้ และการจ่ายเงินสมทบมีความสะดวกเพราะจ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์ ตู้เติมเงิน ที่จะกระจาย ไปตามตำบล และหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการ