วันนี้ (1 ธ.ค.2560) นายสมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสกว. กล่าวว่า สถานการณ์ของหนอนตัวแบนนิวกินี หนึ่งในชนิดพันธ์ุต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ที่เริ่มมีการรายงานในประเทศไทย จากรายงานพบว่าหนอนชนิดนี้มีอายุขัยได้ถึง 2 ปีในห้องปฏิบัติการ
นอกจากนี้หนอนตัวแบนนิวกินี ยังมีกลไกการป้องกันตนเองด้วยการขาดออกเป็นท่อนๆ เมื่อถูกรบกวน แต่ละท่อนสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวที่สมบูรณ์ได้ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งถือเป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
ภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ส่วนพฤติกรรมการล่าเหยื่อของหนอนตัวแบนนิวกินี จะล่าหอยทากได้สำเร็จ ต้องรวมฝูงกันออกล่า เนื่องจากน้ำย่อยจากหนอนตัวเดียวไม่เพียงพอที่จะสังหารเหยื่อ และต้องรอให้เหยื่ออยู่นิ่งๆ
นักวิจัย กล่าวอีกว่า สำหรับการประเมินระดับความรุนแรงการรุกรานของหนอนตัวแบนนิวกินี จะต้องอาศัยการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศ และชนิดพันธุ์ของหอยทากหรือเหยื่ออื่น ๆ ในท้องถิ่นอย่างรอบด้าน และการตื่นตระหนกมากเกินไปของสังคมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และกำจัดหนอนชนิดอื่นที่เป็นชนิดท้องถิ่น ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศแทน เช่น หนอนหัวค้อนและหนอนริบบิ้น ที่มีสีและลักษณะลำตัวที่แตกต่างกันกับหนอนตัวแบนนิวกินี แต่มีบทบาทเป็นผู้ล่า และช่วยควบคุมปริมาณของสัตว์หน้าดินให้มีปริมาณที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน
ภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากต้องการกำจัดให้ใช้เกลือโรย หรือใช้น้ำร้อนเทราด ห้ามกำจัดโดยการสับหรือทุบเพราะลำตัวสามารถงอกใหม่ได้ สำหรับภาคเกษตร กรรม ปัจจุบันถือว่าไม่ได้เป็นศัตรูทางการเกษตร แต่ต้องเฝ้าระวังและสำรวจบริเวณแปลงเกษตรกรรมเพื่อประเมินผลกระทบ อีกทั้งควรมีการตรวจเช็คและห่อบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยก่อนการขนส่ง
นักวิจัย ระบุว่า ประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานชนิดอื่นๆ ที่รู้จักกันมายาวนาน เช่น หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ต้นไมยราบยักษ์ ผักตบชวา ต้นบัวตอง ทำให้การศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานด้านสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นรุก รานมีความสำคัญ โดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นทุกชนิดไม่ได้ถือว่าเป็นชนิดที่รุกรานทั้งหมด
ภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ทั้งนี้ การกำหนดว่าชนิดใดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีการระบาดหรือแพร่กระจายรวดเร็วหรือไม่ มีการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วหรือไม่ และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้จะต้องมาจากการศึกษาวิจัย โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง และการประเมินพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำมาใช้วางแผนการป้องกันในอนาคตได้
ด้าน นางสมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สกว.กล่าวถึง จากการหารือร่วมกับกระ ทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลายภาคส่วน เห็นความจำเป็นในการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับหนอนนิวกินี และควรหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตั้งโจทย์วิจัยที่ชัดเจน มีการทำวิจัยอย่างจริงจัง และสามารถนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนได้รับทราบเพิ่มเติมเพื่อการป้องกัน ควบคุม และเฝ้าระวัง
ก่อนหน้านี้เมื่อ วันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่ม siamensis.org ได้เผยแพร่ข้อมูลการพบ "หนอนตัวแบนนิวกินี" หนอนที่มีถิ่นกำเนิดในนิวกินี และออสเตรเลีย และถูกจัดอันดับจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น เป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก