วันนี้ ( 2 ธ.ค.2560) นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.กล่าวว่า คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ หรือ กอช. มีมติเห็นชอบให้คัดเลือกชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ที่มีลำดับความสำคัญสูงของประเทศไทย เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็นพืช 11 ชนิด ได้แก่ ไมยราบยักษ์ หญ้าขจรจบดอกเล็ก หญ้าขจรจบดอกใหญ่ หญ้าขจรจบดอกเหลือง ผักตบชวา จอกหูหนูยักษ์ กระถินหางกระรอก ขี้ไก่ย่าน ต้นสาบหมา กกช้าง และธูปฤาษี
ส่วนชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญลำดับสูง 12 ชนิด ได่แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล หอยทากยักษ์แอฟริกา หอยเชอรี่ หอยเชอรี่ยักษ์ ปลากดเกราะ หรือปลาซัคเกอร์ในสกุล Hypostomus,Liposarcus และ Pterygoplichthys ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน เต่าแก้มแดง และหนูท่อ เพื่อเสนอจัดทำแนวทางการป้องกันควบคุม กำจัด จัดทำทะเบียนจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงรวบรวม วิเคราะห์เส้นทางการระบาด เผยแพร่ความรู้เจ้าหน้าที่ในการควบคุม โดยเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางลดผลกระทบต่อระบบนิเวศต่อไป
เมื่อถามว่ากรณีผู้นำเข้าเอเลียนสปีชีส์และทำให้เกิดปัญหาเช่นกรณีปลาหมอสีคางดำ จะเอาผิดทางกฎหมายได้หรือไม่ เลขาธิการสผ.บอกว่าหน่วยงานด้านสัตว์น้ำคือกรมประมงมีกฎระเบียบที่เอาผิดผู้นำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ระบาดและกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำได้โดยตรง ส่วนสผ.จะดูภาพรวมทางด้านนโยบายด้านนี้
รู้จัก แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล พิษถึงตาย
สำหรับแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล ข้อมูลจากsiamensis.org ระบุว่ามีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นได้มีการกระจายกว้างออกไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลียส่วนใหญ่ติดไปกับการขนส่งทางเรือและอากาศ จากนั้นก็มีรายงานพบที่ทวีปเอเชียโดยเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและอินเดีย และปัจจุบันแมงมุมชนิดนี้สามารถพบได้ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก นักสัตววิทยาจึงจัดแมงมุมชนิดนี้เป็นชนิดที่สามารถพบได้ทั่วโลก
ในประเทศไทยจากการออกเก็บตัวอย่าง รวมถึงการแจ้งข่าวและการส่งตัวอย่างมาให้ตรวจสอบ พบหลายจังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร ชัยนาท ระยอง จันทบุรี นครราชสีมา และหนองบัวลำภู
ทั้งนี้ พิษของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Latrotoxin ซึ่งจัดเป็นพิษที่มีผลหลักต่อระบบประสาท (neurotoxin) โดยพิษจะทำให้เกิดช่องว่างบริเวณปลายเซลล์ประสาท ส่งผลให้แคลเซียมไอออน ไหลเข้าสู่ปลายเซลล์ประสาทซึ่งเป็นกลไกให้เกิดการปล่อยสารสื่อประสาท ตลอดเวลา ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งจนเป็นอัมพาตสาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงาน นอกจากนี้พิษของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลยังมีองค์ประกอบที่ส่งผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อรอบแผลทำให้เกิดความเจ็บปวดและแผลจะหายช้า แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากการโดนแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกัดเลย