ธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับคนพิการ ไม่ใช่ฝันอีกต่อไป
มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อคนการพัฒนาคนพิการนอกจากเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าของคนพิการแล้ว ยังเป็นมูลนิธิที่ฝึกอาชีพให้กับคนพิการทางร่างกายด้วย ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาช่องทางทำการตลาด อย่างเช่นผลิตภัณฑ์บ้านทรงไทยที่เราเองก็ตั้งความหวังว่า ทำออกมาแล้วสวย มีความประณีต น่าจะขายได้ เราตั้งราคาไว้ที่หลังละ 1 พันบาท ซึ่งเราก็คิดว่าไม่แพงเกินไป เพราะเป็นงานฝีมือ แต่คนทั่วไปอาจจะมองว่าเราขายแพงไปหรือเปล่า” อานัส วันสุข เจ้าหน้าที่มูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ฝ่ายสร้างเสริมอาชีพคนพิการ สะท้อนถึงปัญหาของการประกอบธุรกิจของมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ให้กับตัวแทนร่วมประชุมฟัง
โครงการดังกล่าวต่อยอดมาจากโครงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมสำหรับกลุ่มคนพิการ ที่ได้รับการการสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) เนื่องจากพบข้อมูลว่า ถึงแม้ว่าจะมีคนพิการจำนวนไม่น้อยได้รับการจ้างงานและยังคงมีงานทำอยู่ในองค์กรต่างๆ แต่จำนวนผู้ได้รับการจ้างงานยังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของจำนวนคนพิการทั้งหมด ปัจจุบันมีคนพิการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของภาคเอกชนและภาครัฐประมาณ 131,000 คน และ 15,000 คน ตามลำดับ เมื่อเทียบกับจำนวนคนพิการที่ลงทะเบียนไว้ 1,900,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด
ด้วยเหตุที่หางานที่เหมาะสมกับตนเองได้ยาก จึงมีคนพิการที่หันไปเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลการสำรวจในปีที่ผ่านมาพบว่า มีคนพิการที่ช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจครัวเรือนประมาณ 165,000 คน ประกอบอาชีพอิสระ 298,000 คน และเป็นเจ้าของกิจการ 27,000 คน และทั้งหมดนี้คิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนคนพิการทั้งหมด(2) ดังนั้นสสพ.จึงเริ่มทำโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมสำหรับกลุ่มคนพิการ
นายอานัส วันสุข เจ้าหน้าที่มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อคนพิการ ฝ่ายสร้างเสริมอาชีพคนพิการ เล่าว่ามูลนิธิพระหาไถ่เพื่อคนพิการ เป็นตลาดสินค้าของคนพิการที่นำสินค้ามาวางขาย มีทั้งผู้ที่ขายขาดและผู้ที่ฝากขาย อาทิ ลวดดัดเป็นรูปจักรยานยนต์ ดัดเป็นพวงกุญแจ งานเป่าแก้วเป็นรูปดอกไม้ รูปปลา รูปมังกร อุตสาหกรรมกระเป๋าที่ทำจากผ้า และล่าสุดที่เริ่มทำเมื่อปีที่แล้วคือ บ้านทรงไทย ซึ่งกำลังประสบปัญหาขายไม่ได้ ซึ่งภายหลังจากการเข้าร่วมประชุมอานัสได้แนวคิดและไอเดียที่จะนำมาต่อยอดและพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ในมูลนิธิให้ได้คุณภาพมากและทันสมัยมากขึ้น
“ผมก็ได้ข้อคิดว่า สิ่งสำคัญเราต้องมีความมั่นใจในสินค้าของเราว่ามีคุณภาพ ซึ่งผมจะกลับไปทำแคตตาล็อกสินค้าของมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ เพื่อให้ลูกค้าเห็นรูปภาพของผลิตภัณฑ์ จากนั้นผมก็จะนำเสนอให้ภาครัฐ และเอกชนดู ซึ่งทางอบจ.ที่เข้าร่วมประชุม บอกว่าจะนำสินค้าของเราไปช่วยเผยแพร่ เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่วยด้วย นอกจากนี้ผมก็อยากให้ภาครัฐ และเอกชนให้คำแนะนำในการออกแบบผลิตภัณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะขายสิ้นค้าได้ รวมถึงให้การสนับสนุนด้วยการสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากสินค้าที่คนพิการทำออกมานั้น เป็นสินค้าเพื่อเสริมรายได้ให้กับครอบครัว หากขายไม่ได้เราก็จะไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ เราก็เชื่อว่าเราสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เราไม่ต้องการให้คนในสังคมมาสงเคราะห์ด้วยการบริจาค แต่เราทำงาน ทำมาหากินได้ด้วยความสามารถของเราได้” อานัส กล่าว
ขณะที่ ปรัชญา เพิ่มทองคำ ผู้เชี่ยวชาญอบรมสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เผยว่า ได้เข้ามาดูแลเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการคนพิการรายกลุ่มเพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพในการจัดการมากขึ้นในลักษณะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่า SME รวมถึงดูแลพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายเดี่ยว ทั้งที่เป็นรายเก่าและรายใหม่ด้วย และเนื่องจากฐานการทำธุรกิจของคนพิการโดยเฉพาะรายกลุ่มมาจากการรวมตัวเป็นกลุ่มช่วยเหลือกันเองของคนพิการ ดังนั้นทางสสพ.เองก็ต้องการพัฒนาไปสู่รูปแบบการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise - SE) ซึ่งในความร่วมมือของเราทั้งสองหน่วยงานคือสสพ.กับ ISMED มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการ “พัฒนาความสามารถในการแข่งขันได้” ของธุรกิจของคนพิการ
ที่ผ่านมาโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศมา 5 พื้นที่ อาทิ จ.นครพนม ที่ทำเรื่องงานพัฒนาศูนย์ล่ามภาษามือ ส่วนทางภาคเหนือ 3 ราย เป็นสินค้าหัตถกรรม ภาคใต้ จ. สุราษฎร์ ก็มีสินค้าเฉพาะสำหรับคนพิการ คือรถโยก โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้คนพิการผู้ประกอบการธุรกิจดูแลธุรกิจได้ด้วยตัวเอง
แต่ที่ผ่านมา นายปรัชญา ก็ยอมรับว่า ผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มอื่นๆ กำลังประสบปัญหาสินค้าบางส่วนขายได้ แต่บางส่วนก็ยังขายไม่ได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก สินค้ายังเข้าไม่ถึงตลาดที่เหมาะสม รวมถึงศักยภาพของการผลิตไม่เท่ากับที่ตลาดต้องการ เรียกว่าอยากขายแต่ตอบสนองความต้องการตลาดไม่ได้ ส่วนปัญหาขายสินค้าไม่ได้ของมูลนิธิพระมหาไถ่ฯ มองว่ามูลนิธิพระมหาไถ่ฯ ต้องมีสายตาเป็นนักเลือกสินค้า ต้องทำตัวเหมือนร้านเซเว่นอิเลฟเว่น ที่ทำหน้าที่มองหาสินค้าว่า อันไหนดีก็เอาเข้ามาขาย อันไหนเกือบดีก็ต้องพัฒนา มองว่าพวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และอยากให้สังคมเข้าใจว่าคนพิการไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
จากนี้ไป นายปรัชญา เผยว่า จะต้องเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเริ่มจาก ให้ความรู้ ฝึกอบรม ให้คนพิการรู้จักปรับรูปแบบทางธุรกิจ ของตนให้ชัดเจน สามารถตอบคำถามพื้นฐานได้ว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร จากนั้นก็ต้องมีการพัฒนาสินค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยใช้นักออกแบบช่วยปรับเปลี่ยนหน้าตาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มช่องทางจัดจำหน่วย เช่นจะขายให้ใครนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มเมือง และนำมาสู่การสื่อสารทางการตลาด ต้องมีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับท้องตลาด จากนั้นก็ทดลองตลาด โดยออกขายตามบูทอาจจะที่เมืองทองธานี ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัย รวมถึงตลาดนัดจตุจักร เป็นต้น
“ถ้าเราเอาคนที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาพัฒนา ตรงไหนขายได้ผลักออกไป ของบางอย่างอาจจะต้องเปลี่ยนเลย บางหน่วยงานทำเองไม่ได้ เราต้องหาแหล่งทุนเพื่อมาสนับสนุนพวกเขา นี่จึงเป็นที่มาของการมาร่วมหารือครั้งนี้ แต่หลังประชุมแล้ว หน่วยงานรัฐก็ออกตัวว่าไม่ว่างสะดวกเพียงแค่ให้คำแนะนำ เอกชนเองก็บอกว่าต้องทำมาหากิน ส่วนเอ็นจีโอบอกว่าอยากทำแต่ไม่มีความรู้ ผมถึงบอกว่าหน่วยที่จะมาพัฒนาช่องทางตลาด ไม่ใช่หาตลาดให้ แต่ต้องทำให้ความต้องการตลาดกับความสามรถคนพิการมาเจอกันให้ได้ ดังนั้นทางสสพ.และการจัดการรูปแบบของธุรกิจเชิงสังคม (Social Enterprise)จึงต้องเข้ามาช่วย” ปรัชญา กล่าว
การลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการในประกอบธุรกิจ ควรได้รับพิจารณาในแง่การขยายฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ควรคิดว่าเป็นการสงเคราะห์หรือเป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ หากเรามุ่งปลดคนพิการ (รวมทั้งผู้สูงอายุ) ที่ระบบมองอาจมองหมดสภาพแล้ว ออกจากระบบการผลิตของประเทศ ในอนาคตกำลังผลิตของประเทศจะเหลือเท่าไร โดยเฉพาะเมื่อสัดส่วนคนพิการและจำนวนคนที่มีความพิการกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใน
ทางกลับกันหากเขาเหล่านั้นสามารถออกมาใช้ชีวิตในสังคมทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ คนในครอบครัวอีกหลายคนที่เคยต้องหยุดงานไปดูแลกัน ก็จะกลับเข้าสู่งานได้ อีกทั้งบริการทางสังคมสำหรับคนพิการก็จะสร้างงานให้คนอื่นๆอีกมากมาย และนั่นคือการขยายฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทย ในขณะที่กิจการที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนพิการยังนำรายได้ส่วนหนึ่งกลับมาช่วยพัฒนาสังคมหรือการสร้างสังคมสวัสดิการอีกด้วย
เมื่ออาชีพในสังคมมีให้คนพิการเลือกทำไม่มากนัก ธุรกิจเอสเอ็มอีของคนพิการ จึงถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขา ด้วยภูมิปัญญาของคนในชุมชน ถ้าช่องทางตลาดถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานรัฐ รวมถึงภาคเอกชน จะต้องเข้ามาช่วยอุดช่องว่างตรงนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสให้คนพิการ