Heros in the field หรือวีรสตรีในภาคสนาม คือคำจำกัดความ ที่บิล เกตส์ มหาเศรษฐีระดับโลกชาวอเมริกันยกย่อง ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ในฐานะผู้สร้างคุณูปการ อุทิศตน ทำประโยชน์เพื่อผู้ป่วยทั่วโลก โดยเฉพาะผลงาน ผลิตยาต้านเอดส์ ซึ่ง ดร.กฤษณา ท่านนี้มีประวัติที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่เพื่อช่วยคนไทยแล้วเธอยังไปใช้ชีวิตทำงานช่วยเหลือในประเทศแถบทวีปแอฟริกานานกว่า 10 ปี
คลิปวิดีโอความยาว 2 นาทีกว่า บิล เกตส์ ให้ทีมงานของเขา เดินทางไปพบ และติดตามการทำงานของดร.กฤษณา ถึง อ.ยะหา จ.ยะลา ต้นเดือนที่ผ่านมา บิล เกตส์ โพสต์บนเฟซบุ๊ก และบล็อกของเค้า
เป็นคลิปสั้นๆ ที่แนะนำให้คนทั่วโลก รู้จัก ดร.กฤษณา ในฐานะผู้ที่อุทิศตน ทำประโยชน์เพื่อผู้ป่วยทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี
เภสัชกรหญิง กฤษณา หรือ ที่หลายคนเรียกว่า เภสัชกรยิปซี คือผู้ริเริ่มวิจัย และสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" ได้สำเร็จ ทำให้ไทย กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรก ที่ผลิตยาต้านเอดส์คุณภาพดี และถูกกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศถึงเกือบ 20 เท่า ซึ่งเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากความต้องการช่วยผู้หญิงและเด็ก ที่ติดเชื้อ ภายใต้ความเชื่อพื้นฐานว่า การเข้าถึงการรักษาคือสิทธิขั้นพื้นฐาน
งานด้านการสอน เธอเคยเป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี ม.สงขลานครินทร์ คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต และเคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม
นอกจากสร้างคุณูปการ ทำประโยชน์ในประเทศไทย สิ่งที่ทำให้เธอได้รับการยกย่องในระดับโลก มาจากการอุทิศตน เดินทางไปทำงานในประเทศแถบแอฟริกายาวนานถึง 12 ปีเช่น คองโก ไลบีเรียแทนซาเนีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน ในระดับที่ส่งผลต่องานด้านการสาธารณสุข
ตอนที่ทำงานอยู่ในประเทศแถบนี้ แทบจะเข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้เลย เพราะมันขาดไปหมด ความจนทำให้ขาดแคลนทุกอย่าง ตอนไปไลบีเรีย ครั้งแรกเมื่อปี 2547 ตอนนั้นไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไป 4 ครั้ง และครั้งหลังสุดที่ไปประมาณ 6 ปี พบว่ามีไฟแล้ว แต่มีไฟที่ถนนหลวงแค่เส้นเดียว ระบบสาธารณูปโภคไม่มี ทำให้ขาดทุกอย่าง และถือเป็นประเทศหนึ่งที่ทำงานยากที่สุด
เธอผลิตยาต้านเอดส์สำเร็จในชีวิตการทำงานที่แอฟริกา และผลักดันขยายออกไปให้ถึงประเทศที่ต้อง การ เพื่อช่วยผู้ป่วยประเทศในทวีปนี้ ให้เข้าถึงยาได้ในราคาไม่แพงมากนัก
ศ.พิเศษ ดร.กฤษณา ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเซีย และเป็นเภสัชกรไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี 2552
ชีวิตปัจจุบันของ ดร.กฤษณา ในวัย 65 ปี แม้จะลาออกจากงานประจำทั้งหมด แต่เธอ ยังคงเดินหน้าทำงานที่รักอย่างมุ่งมั่น ภายใต้ มูลนิธิ กฤษณา ไกรสินธุ์ ลังกาสุกะโมเดล คืองานหลักที่ตั้งใจทำ ที่ผ่านมา ทำในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาคุณภาพสมุนไพรในพื้นที่ ชวนชาวบ้านปลูกสมุนไพร และนำมาแปรรูปทำผงสมุนไพร และปัจจุบัน ขยายพื้นที่ ไปทำในภาคเหนือ ร่วมกับ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี
ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เธอมีความเชื่อ และมักจะพูดเสมอว่า ทุกอย่างมีทางออก มีความหวัง และเธอ ไม่เคยยอมแพ้