นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าในวันที่ 21 ธ.ค.2560 ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด เป็นผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้น และช่วงกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า "วันเหมายัน" (เห-มา-ยัน) ส่วนในประเทศไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"
ในวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 17.55 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที ท้องฟ้าจึงมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ขณะที่ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
ผอ.สดร.กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ในรอบ 1 ปีโลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน โดยช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) ซึ่งความแตกต่างของระยะทางในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาล
แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้น ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก โดยจะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว