ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน

สังคม
26 ธ.ค. 60
19:01
10,239
Logo Thai PBS
คนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน
กรมสุขภาพจิต พบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 1.5 ล้านคน พร้อมกับแนะนำวิธีสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าต่างอย่างไรกับอารมณ์ซึมเศร้า และหากมีพฤติกรรมเข้าข่าย คนรอบข้างต้องไม่เพิกเฉยและรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข

ข้อความสุดท้ายที่ พ.ต.ต.สหัสวรรษ พันธุ์เกตุ สารวัตรฝ่ายแต่งตั้ง สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติเขียนไว้ อาจทำให้เชื่อได้ว่า ความซึมเศร้าเป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้งที่นายตำรวจคนนี้ เพิ่งเริ่มทำงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประมาณ 1 ปี

จากสถิติของทีมแพทย์จิตเวช โรงพยาบาลตำรวจ พบว่า ตำรวจทั่วประเทศป่วยโรคซึมเศร้า 605 คน ในปีนี้ สาเหตุมาจากปัญหาการทำงานทั้งถูกกดดัน งานเยอะ ความเครียด ซึ่งสายงานที่พบการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด คือ สายป้องกันและปราบปราม และหากมองสถิติย้อนหลัง 9 ปี ตำรวจฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 299 คน พบมากสุดจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทุกอาชีพ ทุกกลุ่มคน และไม่ใช่โรคที่น่ากลัว สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากทุกคนรู้จักวิธีดูแลตัวเอง และระบายความเครียดอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้

โรคซึมเศร้าต่างจากอารมณ์ซึมเศร้า ที่เมื่อผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้หรือเบาลง อารมณ์เศร้านั้นก็จะหายไป แต่สำหรับโรคซึมเศร้า ความรุนแรงจะมากกว่า ยาวนานต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ ซึ่งปัจจัยสำคัญของการเกิดโรค มาจากกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมองไม่สมดุลและลักษณะนิสัย

 

 

สัญญาณเตือนที่มักพบ คือ เบื่อไม่สนใจทำอะไร เศร้า ท้อแท้ ไม่สบายใจ เบื่ออาหาร หรือ กินมากเกินไป หลับยาก ทำอะไรช้าลง อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรง ไม่มีสมาธิ รู้สึกไร้ค่า และทำร้ายตัวเอง

ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต พบว่า คนไทย 1,500,000 คน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อพบอาการควรพบแพทย์ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ร่วมกับการกินยา ควบคู่กับการปรับพฤติกรรม ขณะที่คนใกล้ชิด ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม หากพบว่าอารมณ์เปลี่ยน หงุดหงิดง่าย รู้สึกท้อแท้ หมดหวัง สมาธิแย่ลง เหม่อลอย ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง เก็บตัวมากขึ้น และหูแว่ว ให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่แรก สิ่งสำคัญ คือ รับฟังปัญหา บางทีคนเป็นโรคซึมเศร้า เพียงต้องการคนรับฟังเท่านั้น และให้กำลังใจด้วยคำพูดที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าต่อสู้อยู่คนเดียว เช่น เราจะผ่านมันไปด้วยกัน และไม่เพิ่มความกดดันให้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง