หมอต้องช่วยชีวิตสัตว์จนถึงที่สุด แม้จะยากลำบาก ข้ามวันข้ามคืนเราก็แค่เหนื่อยพักก็หาย แต่สำหรับสัตว์ป่วย มันคือชีวิต
นี่คือข้อความในเฟชบุ๊ก Nantarika Chansue ของ รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันชื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยจศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่คนบนโลกโซเชียล ต้องรู้จักเธอดีในนามของ ”นางฟ้าของสัตว์น้ำ” "สัตวแพทย์ใจดี" เพราะเธอ และทีมงานจากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ เลือกใช้การสื่อสารสร้างความเข้าใจผ่านทาง เฟซบุ๊ก และสื่อสังคมออนไลน์ รณรงค์สร้างจิตสำนึก และบอกเล่าเรื่องราวของสัตว์น้ำที่มีทั้งสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่ามะเฟือง โลมา พะยูน หรือแม้แต่เต่าบก ที่เธอช่วยชีวิตมานับไม่ถ้วน
สถานการณ์สัตว์ทะเลหายากตอนนี้ดีขึ้นหรือแย่ลง
ส่วนตัวมองว่าสถานการณ์การเกยตื้น และการตายของสัตว์ทะเลหายาก มันมีส่วนที่ดีขึ้นเพราะประชาชน และโซเชียลช่วยกันรายงานเข้ามาแจ้ง ทำให้ราชการตื่นตัวดีขึ้น แต่ที่แย่ลงคือปัญหายังไม่หมด เพราะสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลตายอันดับต้นๆยังมาจากการติดเครื่องมือประมง อวนที่ยาวขึ้น และผิดกฎหมายทำให้สัตว์เหล่านี้จมน้ำตาย เศษขยะประมง ขยะพลาสติกที่สัตว์ทะเลกินเข้าไปในกระเพาะอาหาร นอกจากอุดตันแล้วพลาสติกที่ดูดซึมในกระแสเลือดและเป็นพิษต่อร่างกาย ถึงผ่าเอาขยะออกมาก็มีโอกาสสูงที่จะตาย ซึ่งเคยเจอวาฬเพชฌฆาตดำ ที่จ.นครศรีธรรมราช ตายเพราะมีขยะเข้าไปอุดตันลำไส้ ซึ่งน่าเสียดายมาก
เรื่องเศร้าที่สุดแห่งปี
ในปีที่ผ่านเรื่องเศร้าที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของ “เต่าออมสิน” และถือเป็นเรื่องเศร้าในชีวิต เพราะหลังจากรับเต่าตนุ เพศเมียอายุ 25 ปี มาจากอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ จ.ชลบุรี เข้ามารักษา และเราเรียกว่าเต่าออมสิน เพราะเขากลืนเหรียญเข้าไปในท้องจำนวนมากนานนับ 10 ปีด้วยการผ่าตัดเอาเหรียญออกมาได้ถึง 915 เหรียญได้แล้ว ทีมงานช่วยกันดูแลจนแผลหาย จนเขากลับมากินอาหาร ว่ายน้ำได้แล้ว แต่อยู่ๆเกิดอาการแทรกซ้อน พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลำไส้บิดตัวรัดกัน 3 ปม ซึ่งคาดว่าอาจมาจากการพยายามฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ในช่องท้องที่มีพื้นที่มากขึ้นและมีแก๊สมากขึ้นจนปวดท้องขี้นมาทำให้เต่าออมสินตายในที่สุด
ค่อนข้างเศร้าที่สุดในชีวิตกับการรักษาเต่าออมสิน เป็นเหตุการณ์ที่แก้ไขไม่ทัน
เพราะเรามีความตั้งใจ มีทีมที่ตั้งใจมากในการรักษาชีวิตของเต่าออมสินเอาไว้ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือน แต่ที่สุดเต่าออมสินก็ตาย แต่หมอยังดีใจ ในส่วนหนึ่งที่ยังช่วยรักษาเขาให้หายป่วย หายทรมาจากการแบกน้ำหนักตัวจากเหรียญจำนวนมากที่อยู่ในตัวได้สำเร็จ
บทเรียนจากเคสเต่าออมสิน บอกอะไรได้บ้าง
บทเรียนในการดูแลสัตว์ทะเลและช่วยชีวิต สิ่งสำคัญคือ “ความรวดเร็ว” เต่าออมสินถูกทิ้งไว้นานจนพิษโลหะเข้าไปอยู่ในเลือด โดยมีค่าโลหะหนัก เฉพาะค่านิเกิลสูง 200 เท่าจนร่างกายทรุด และคงไม่ใช่แค่เต่าออมสิน แต่สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าเจอเร็ว หรือช้าพิษต่างๆโลหะจะเกิดขึ้นทั้งสะสมในร่างกาย รวมทั้งสารจากพลาสติกที่สัตว์กลืนกินเข้าไป
ขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยบริจาคเงินเข้ามาในกองทุนช่วยเหลือชีวิตสัตว์น้ำ เพื่อจัดซื้อกล้องเอ็นโดรสโคป ที่ใช้วิธีส่องกล้องเข้าไปภายในแล้วนำสิ่งแปลกปลอมออกมา โดยไม่ต้องใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งจัดซื้อแล้ว และเตรียมจะนำไปใช้กับสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ
ฉายา “นางฟ้า”ของสัตว์ทะเล
จริงๆก็แค่ทำตามหน้าที่ เพราะเรามีความรู้ มีความสงสารเป็นหลัก และทำดีที่สุด ไม่ได้ถึงกับเป็นแม่พระ เป็นนางฟ้าของสัตว์ทะเล ต้องขอบคุณที่ให้คำชมเชย แต่จริงๆคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่สามารถช่วยกันดูแลชีวิตสัตว์ทะเล
สัตว์ทะเลหายาก อย่างวาฬบรูด้า เต่ามะฟือง ถ้าไม่มีการอนุรักษ์หรือคุ้มครอง ก็มีโอกาสลดลงถ้าจะไม่ทำอะไรจะเหลือแค่บันทึก
หมอยอมรับว่าขั้นตอนรักษาสัตว์ทะเลหายากให้รอดรักษาแล้วยาก แต่ประสบการณ์รักษาหายากกว่า สัตว์ที่เกยตื้นตายแล้วจะเป็นครูให้กัลสัตวแพทย นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่จะเรียนรู้สาเหตุตายมาจากอะไร
เลือกสื่อสารกับโซเซียล
การรักษาสัตว์ทุกชนิดมีความความยากก็จริง แต่หากสัตว์ได้รับการช่วยเหลือปฐมพยาบาลมาดี สัตว์มีโอกาสรอดเยอะเหมือนคน ดังนั้นจึงมองว่าการสื่อสารกับคนในการช่วยชีวิตสัตว์ทุกชนิด เป็นช่องทางหนึ่งพยายามให้ความรู้ และตอนนี้ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือทช. ก็จัดหลักสูตร เช่น ถ้าเจอโลมาป่วยจะต้องทำอย่างไร ไม่ให้ทรายเข้าจมูก เพราะบางคนคิดว่ารูข้างบน สำหรับใช้พ่นน้ำ เพราะเห็นในการ์ตูน หมอเคยเห็นกับตาว่ากรอกน้ำลงไป เพราะคิดว่าเป็นการช่วยเหลือ แต่ตรงนี้คือทำให้เขาตาย มาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลยพยายามสื่อสาร เพื่อให้สัตว์ทะเลหายากให้สัตว์พวกนี้มีโอกาสรอด
ประทับใจหรือชอบสัตว์ทะเลตัวไหนเป็นพิเศษ
การรักษาสัตว์ทุกตัว ก็ประทบใจทุกตัว เพาะเราไม่เน้นตัวสัตว์ แต่เราสงสารเขาอย่างเดียว อยากรักษาให้เขาหาย อะไรถ้าเขาโดนอะไรมาจะช่วยเหลือทันที ซึ่งระยะหลังเราเจอเต่าบก เต่านาถูกรถทับบ่อยมาก เวลารถทับ ปอดตับจะเละมาก ปัญหาคือเต่าเขาทนมาก บางตัวหนอนขึ้นกว่าจะคนมาเจอนอนอยู่ริมถนนและส่งมาที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ยากที่สุด บางตัวกระดองแตก ตัวหนึ่งใช้เวลาหลายเดือนต้องทำแผลป้อนยาทุกวัน เพื่อให้เขารอด
คาดหวังกับงานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก
ขณะนี้ ทช.กำลังสร้างศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลที่ จ.ภูเก็ต และศูนย์เคลื่อนที่อีก 5 แห่งซึ่งจะช่วยให้การรับแจ้งเหตุและการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลมีความรวดเร็วมีความพร้อมมากขึ้น แต่ความฝันคืออยากเห็นการทำงานร่วมกันของทุกกรมทั้ง ทช.และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ต้องดูแลคุ้มครองพื้นที่แหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงกรมประมง ที่ดูแลการทำประมงผิดกฎหมาย ถ้า 3 หน่วยงานร่วมกันทำงานอนุรักษ์มั่นใจว่าสัตว์ทะเลจะมีชีวิตที่ดี และไม่สูญพันธุ์แน่นอน
จันทร์จิรา พงษ์ราย ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์