สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกประกาศคำสั่งแนวปฏิบัติการลดการบ้านของนักเรียน ตามคำปรารภของนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยการให้การบ้านนักเรียนจำนวนมาก โดยให้สถานศึกษาต้องแจ้งครูที่สอนระดับชั้นเดียวกันและครูแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้วางแผนร่วมกันในการให้การบ้าน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยผู้เรียน จำนวนสาระการเรียนรู้ ปริมาณการบ้านและเวลาที่ใช้ในแต่ละวัน
ซึ่งชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 1 ชั่วโมง 30 นาที และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
นิจสุดา อภินันทาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวอ้างอิงผลวิจัยการศึกษาสภาพการได้รับการบ้านรายวันของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2547 โดยพบว่าเด็กในเขตเมืองและนอกเขตเมือง ส่วนใหญ่ทำการบ้านไม่เกิน 30 นาที ส่วนในระดับมัธยมศึกษาใช้เวลาไม่เกิน 60 นาที จึงเชื่อว่าคำสั่งดังกล่าวช่วยลดความเครียดของนักเรียนได้
ด้านศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า แนวปฏิบัติลดการบ้านนักเรียนเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้จริงในระยะยาว เพราะหากเลย 3 เดือนไปแล้วก็จะกลับเข้าสู่วังวนเดิม เพราะการบ้านเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบการศึกษา การแก้ปัญหาการบ้านเยอะจำเป็นต้องปรับระบบการสอนและปรับกลุ่มสาระวิชาจาก 8 กลุ่มสาระให้เหลือ 4-5 กลุ่มสาระ เรื่องนี้จึงสะท้อนการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่ยังวนอยู่ที่เดิมและอาจกลับไปสู่การประกาศรับจ้างทำการบ้านผ่านเว็บไซต์ หรือผู้ปกครองทำการบ้านแทนบุตรหลาน
ศาสตราจารย์สมพงษ์ ระบุอีกว่า ประเทศที่ระบบการศึกษาก้าวหน้าจะกำหนดเวลาทำการบ้านของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ไม่เกิน 30 นาที และมัธยมศึกษา ไม่เกิน 45 นาที