ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สถิติอุบัติเหตุวันที่ 5 เทศกาลปีใหม่ 61 เสียชีวิตพุ่ง 71 คน

สังคม
2 ม.ค. 61
11:32
15,979
Logo Thai PBS
สถิติอุบัติเหตุวันที่ 5 เทศกาลปีใหม่ 61 เสียชีวิตพุ่ง 71 คน
สถิติอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 1 ม.ค.61 เสียชีวิต 71 คน สถิติรวม 5 วัน เสียชีวิตรวม 317 คน

วันนี้ (2 ม.ค.2561) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 1 ม.ค.2561 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 677 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 71 คน ผู้บาดเจ็บ 696 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 47.27 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.00 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.45 รถปิคอัพ 5.18 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.62 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01 – 04.00 น. ร้อยละ 27.92

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,011 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,092 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 782,166 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 138,279 คน มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 39,875 คน ไม่มีใบขับขี่ 38,178 คน 

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (38 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด และกรุงเทพมหานคร (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (39 คน)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (28 ธ.ค.60-1 ม.ค.61) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,056 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 317 คน ผู้บาดเจ็บรวม 3,188 คน

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต(ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ตรัง ตาก นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (114 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ (13 คน) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (118 คน)

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่าวันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลักจากภูมิภาคต่างๆ ที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมีปริมาณรถหนาแน่น ประกอบกับการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลรื่นเริง อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงหลับใน

ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดเข้มข้นจุดตรวจ โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมสู่ถนนสายหลัก เส้นทางสายรองที่ประชาชนใช้เป็นทางลัดและทางเลี่ยงเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง จึงสามารถใช้ความเร็วได้สูง พร้อมเพิ่มการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะ ควบคู่กับการเร่งระบายรถ โดยเปิดช่องทางพิเศษและจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณจุดตัดเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น

นอกจากนี้ ยังคุมเข้มความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ ตลอดจนเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงและส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดเตรียมระบบสื่อสารแจ้งเหตุ ทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง