ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สบส. เตือน "เลเซอร์ปิกาจู" เสี่ยงกระทบระบบสืบพันธุ์

สังคม
4 ม.ค. 61
17:05
4,184
Logo Thai PBS
สบส. เตือน "เลเซอร์ปิกาจู" เสี่ยงกระทบระบบสืบพันธุ์
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือน "เลเซอร์ปิกาจู" หรือการเลเซอร์อวัยวะเพศชายให้ขาว อันตรายได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงสืบพันธุ์ไม่ได้ พร้อมประสานหน้าที่ฯ ตรวจสอบเนื้อหาการโฆษณา ชี้แม้สถานพยาบาลไม่ได้โฆษณาเองแต่ปล่อยให้ผู้อื่นโฆษณาให้ก็ถือว่ามีความผิด

วันนี้ (4 ม.ค.2561) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่หญิงสาวรายหนึ่งโพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการใช้เทคนิคเลเซอร์ลดการสร้างเม็ดสีผิวบริเวณอวัยวะเพศชาย ให้ขาวขึ้นว่า การใช้เลเซอร์เพื่อทำให้ผิวขาวขึ้นนั้น หากนำมาใช้กับอวัยวะเพศชาย อาจส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการ ทั้งเกิดอาการเจ็บปวดขณะทำ การระคายเคืองได้ง่าย ผิวหนังอักเสบ เกิดรอยแผลเป็น ส่งผลกระทบถึงระบบสืบพันธุ์ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อหยุดทำเลเซอร์ผิวหนังแล้ว บริเวณอวัยวะเพศชายก็จะกลับมาดำเหมือนเดิม หรืออาจจะเกิดจุดด่างดำขึ้น เพราะการทำเลเซอร์ไม่ได้ให้ผลถาวร จึงเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของการโฆษณาที่มีการใช้ภาพคนไข้ที่อยู่ในอิริยาบถที่ดูแล้วไม่เหมาะสม ส่อไปทางลามก อนาจาร รวมทั้งเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ โดยกรม สบส.ได้ประสานเจ้าหน้าที่ฯในพื้นที่ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบเนื้อหาดังกล่าว

แม้สถานพยาบาลดังกล่าวจะไม่ได้เป็นผู้โฆษณาด้วยตนเองแต่ตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ได้กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ห้ามปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นโฆษณาสถานพยาบาลแทนโดยการใช้ข้อความ ภาพ เสียง อาทิ การถ่ายคลิปไลฟ์สดผ่านสื่อโซเชียล ไม่ว่าสถานพยาบาลจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ แต่หากมิได้มีการทักท้วง หรือปฏิเสธ ก็จะถือว่าเข้าข่ายรู้เห็น ยินยอมให้มีการโฆษณาสถานพยาบาลแทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะระงับการโฆษณา และหากพบว่าผู้ประกอบวิชาชีพอาจมีการกระทำผิดมาตรฐานจะส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพดำเนินการด้านจริยธรรมต่อไป

ทั้งนี้หากผู้ใดพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวด เกินจริง หรือมีเนื้อหาล่อแหลมสื่อไปในทางลามก โดยสถานพยาบาลเอกชน หากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่กรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 หรือ 18830 แต่หากอยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง