วันนี้ (7 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน 8 คนใน อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา นำหลักฐานการโอนเงิน สมุดบัญชีธนาคาร และข้อความสนทนาผ่านทางเฟซบุ๊ก เข้าร้องเรียนกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา หลังถูกหลอกว่าสามารถช่วยเหลือไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนจะนำเงินค่าดำเนินการกว่า 1 แสนบาทหลบหนี
นางบุญเลิศ อาจดี ผู้เสียหายกล่าวว่า เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา พบข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กของผู้ที่ใช้ชื่อว่าก้องภพ โฆษณาว่าสามารถช่วยเหลือพาไปทำงานการเกษตรที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ ก่อนจะพูดคุยผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้ก่อเหตุให้โอนเงินค่าเดินทางคนละ 17,000บาท จึงได้ชักชวนเพื่อนไปด้วยรวม 8 คน จนถึงกำหนดวันเดินทาง อีกฝ่ายกลับปิดเฟซบุ๊กและไม่สามารถติดต่อได้อีก
เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ขณะนี้ได้ให้ชาวบ้านทั้งหมด 8 คน รวบรวมหลักฐานเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดี พร้อมเตือนผู้ต้องการไปทำงานต่างประเทศ ควรติดต่อกรมการจัดหางาน หรือตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล ได้ออกมาประกาศแจ้งเตือน กรณีการเข้ามาทำงานในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย ผ่านทางเฟซบุ๊กสำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล Office of Thai Labour in Seoul เมื่อวันที่ 25 ธ.ค ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหา ดังนี้
ด้วยขณะนี้ตามข่าวสื่อสังคมออนไลน์มีการเสนอข่าวสารมีคนไทยจำนวนมากลักลอบทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการแจ้งเตือนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล จึงขอออกประกาศเตือน ดังต่อไปนี้
1.คนไทยที่ต้องการทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกกฎหมาย ขอให้ปฏิบัติตามขั้นตอนความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบอนุญาตการจ้างงาน (EPS) ซึ่งสามารถติดต่อหาข้อมูลได้ที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน นอกจากระบบ EPS แรงงานไร้ฝีมือ (E-9) แล้ว หากคนต่างชาติผู้ประสงค์จะทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี ต้องได้รับการอนุญาตการทำงาน (วีซ่าทำงาน) จากกระทรวงยุติธรรม ก่อนการเดินทางจากประเทศของตนเอง วีซ่าทำงานประกอบด้วย อาจารย์ (E-1) การสอนภาษาต่างชาติ (E-2) การศึกษา (E-3) การสอนฝีมือเทคนิค (E-4) อาชีพเฉพาะทาง (E-5) ศิลปะ (E-6) แรงงานที่มีทักษะฝีมือ (E-7) และลูกเรือ (E-10)
2.คนไทยที่มาท่องเที่ยวที่สาธารณรัฐเกาหลีสามารถอยู่ได้ 90 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ผู้ใดฝ่าฝืนอยู่พำนักเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตหรือหลบหนีทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตการทำงานถือเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลี มีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 1 – 20 ล้านวอน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการกระทำผิด หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี เมื่อถูกจับกุมจะส่งตัวกลับประเทศไทย และจะถูกขึ้นบัญชีดำไม่สามารถเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลีได้ (ระยะเวลาตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลีกำหนด) ทั้งนี้ นายจ้างที่ทำการจ้างแรงงานผิดกฎหมายก็มีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 2 – 20 ล้านวอน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการกระทำผิด หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี
3.การทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะทำให้แรงงานไทยขาดการคุ้มครองจากประกันสุขภาพ ประกันภัยทั่วไป และประกันสังคม หากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง เว้นแต่กรณีประสบเหตุเนื่องจากการทำงาน
โดยเฟซบุ๊กสำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล ยังอธิบายเกี่ยวกับโทษปรับว่า อ้างอิงตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐเกาหลี (Immigration Act) ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 และแก้ไขปรับปรุงในตัวกฎหมายมาตรา 94 ได้กำหนดบทลงโทษไว้โดยมีเนื้อหาตามที่ประกาศ ส่วนในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลี
ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2558 พบว่ามีคนไทยถูกปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีใต้ถึง 20,000 คน ต่อมาในปี พ.ศ.2559 มีคนไทยถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธให้เข้าเมือง กว่า 30,000 คน