ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา "รอยเลื่อนสะกาย" เสี่ยงแผ่นดินไหวเมียนมา กระทบตึกสูง

สิ่งแวดล้อม
14 ม.ค. 61
09:54
1,610
Logo Thai PBS
จับตา "รอยเลื่อนสะกาย" เสี่ยงแผ่นดินไหวเมียนมา กระทบตึกสูง
ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง ระบุแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกในเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อไทย มีเพียงตึกสูงที่รับรู้แรงสั่นสะเทือน พร้อมเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา เสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7

วันนี้ (14 ม.ค.2561) นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยกรณีเกิดแผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด 3-6 เกือบ 30 ครั้ง ล่าสุดวันนี้ เวลา 06.27 น. ว่า กรณีนี้เป็นอาฟเตอร์ช็อก ขนาดแรงสุดอยู่ที่ 6 เกิดจากแขนงของรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา บริเวณฝั่งตะวันตกห่างจากรอยเลื่อนสะกาย 20-30 กิโลเมตร ซึ่งขนาดของอาฟเตอร์ช็อกจะลดลงเรื่อยๆ อยู่ที่ขนาด 3-5 โดยไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยและรอยเลื่อนในไทย มีเพียงตึกสูงในจังหวัดทางภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่รับรู้แรงสั่นสะเทือน

ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องติดตามและเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกาย เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 7 แต่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากเกิดขึ้นจริงจะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ บริเวณย่างกุ้งและเนปิดอว์ ส่วนประเทศไทยจะได้รับผลกระทบบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.ลำปาง และตึกสูงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เวลา 01.26 น. เกิดแผ่นดินไหวบนบกขนาด 5.9 ระดับความลึก 10 กม. ศูนย์กลางบริเวณเมืองพยู ตอนกลางของประเทศเมียนมา สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย (Sagiang Fault) วางตัวในแนว NNW-SSE เป็นรอยเลื่อนย้อน (Reverse Fault) รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกพม่าตะวันตก (Western Burma Plate) กับ แผ่นเปลือกโลกฉานไทย (Shan-Thai Plate) ด้วยอัตราการเลื่อนตัว 20 มิลลิเมตรต่อปี โดยได้เกิดแผ่นดินไหวตาม (Aftershocks) ขนาดตั้งแต่ 3.2 – 5.2 จำนวน 12 ครั้ง ทั้งนี้ เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณใกล้เคียงมาแล้ว เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2559 ขนาด 6.8 ศูนย์กลางบริเวณเมืองมะเกว เขตสะกาย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และเจดีย์หลายแห่งในเมืองพุกามได้รับความเสียหาย

เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีชาวบ้านพักอาศัย อยู่ประปราย ระหว่างกรุงเนปิดอว์และเมืองย่างกุ้ง ห่างจากทั้ง 2 เมือง ประมาณ 150 กิโลเมตร ศูนย์กลางแผ่นดินไหวดังกล่าวห่างจาก อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 225 กิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.ตาก จ.นนทบุรี และกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง