สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดตัวงานวิจัยและนวัตกรรมเด่น ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยวุฒิเมธีวิจัย สกว. เมธีวิจัย สกว. นักวิจัยรุ่นใหม่ รวม 10 คน นับเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนและเป็นการนำร่องการปรับตัวสู่สังคมไทยแลนด์ 4.0 โดยงานวิจัยที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นผลงานของผศ.ดร.วาสนา ปรัชญาสกุล นักวิจัย สกว. ภาควิชาสรีรวิทยา ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“โรคอ้วน” ภัยเงียบสูญเสียการจดจำในเพศหญิง
ผศ.ดร.วาสนา กับงานวิจัยเรื่องภาวะอ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในเพศหญิง
ผศ.ดร.วาสนา กล่าวว่า ภาวะอ้วนจากการรับประทานอาหารไขมันสูง นอกจากเป็นสาเหตุโรคภัยต่างๆ แล้ว ยังมีผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนสำคัญในเพศหญิง เนื่องจากการตัดรังไข่หรือการหมดประจำเดือน ซึ่งพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีนั้นโดยทั่วไปอาจมีการพร่องฮอร์โมนซึ่งจะทำให้สมองสูญเสียการทำงานในส่วนการเรียนรู้และการจดจำ แต่หากเกิดภาวะอ้วนร่วมด้วยจะเป็นการช่วยเร่งให้สมองสูญเสียการทำงานได้เร็วขึ้น
ผศ.ดร.วาสนา กล่าวต่อว่า การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะรักษาภาวะการสูญเสียการทำงานของสมอง และให้ผลดีเฉพาะกลุ่มที่พร่องเอสโตรเจนหรือกลุ่มที่มีภาวะอ้วนอย่างเดียว แต่สำหรับคนอ้วนร่วมกับพร่องฮอร์โมนนั้น การให้ฮอร์โมนทดแทนจะไม่มีผลช่วยการทำงานของสมอง ซึ่งการจำกัดอาหาร การออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพอยู่เสมอจะช่วยลดอันตรายจากภาวะอ้วนในสตรีที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้
นาฬิกาช่วยชีวิต ตรวจจับก๊าซพิษด้วยเซนเซอร์
อีกผลงานวิจัยเป็นของ วงศ์ชูสุขนักวิจัย สกว.จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า มลพิษทางอากาศอาจทำให้เสียชีวิตได้ จากกรณีการเสียชีวิตของผู้ที่นอนในรถยนต์ เนื่องจากเครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และมีก๊าซพิษบางตัวอย่าง คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไหลเข้ามาในรถ หรือเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตในบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถรับรู้ถึงอันตรายดังกล่าวได้
ผศ.ดร.ชัชวาล กล่าวต่อว่า นาฬิกานาโนก๊าซเซนเซอร์นี้ พัฒนามาเพื่อแก้ไขปัญหาการรับก๊าซพิษซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตหากรับเข้าไปในปริมาณที่มาก โดยใช้องค์ความรู้พัฒนาสูตรหมึกนำไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย คำนึงถึงต้นทุนราคาถูกที่ทุกคนสามารถผลิตได้จากที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งใช้เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ตในการผลิต วัสดุนาโนที่ตอบสนองต่อกลิ่น อย่างกราฟีน ทังสเตนแท่งนาโนลวดนาโนซิงค์ออกไซค์แบบ core shel และเมื่อรวมเซนเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น แอมโมเนีย คาร์บอนมอนออกไซค์ โอโซน ออกซิเจน และไนโตรเจนไดออกไซด์ได้ นำมาใส่ไว้ในนาฬิกาที่ทุกคนสามารถพกพาไปใช้ได้
สำหรับการทำงานของนาฬิกานั้น สามารถตั้งค่าความเข้มข้นของก๊าซแต่ละชนิดที่ต้องการตรวจสอบได้ เนื่องจากก๊าซแต่ละชนิดมีความเข้าข้นแตกต่างกัน อย่างก๊าซคาร์บอนมอนออกไซค์ความเข้มข้น 5,000 ppm เริ่มมีอันตรายต่อร่างกายแล้ว เมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีก๊าซถึงระดับที่ตั้งไว้ นาฬิกาจะส่งเสียงเตือนภายในเวลาน้อยกว่า 10 วินาที เพื่อให้ผู้ที่เจอก๊าซพิษสามารถออกจากพื้นที่นั้น ๆ ได้ทันท่วงที เมื่อความเข้มข้นของก๊าซลดลงเสียงเตือนจะค่อย ๆ เบาลง
การใช้งานนาฬิกานาโนก๊าซเซนเซอร์นี้ ต้องใช้ตามกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากสามารถใส่เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซพิษได้ 1 ชนิดเท่านั้น อย่างกรณีผู้ที่นอนในรถยนต์ ต้องใช้นาฬิกาที่มีเซนเซอร์ไนโตรเจนไดออกไซด์ ส่วนบ่อบำบัดน้ำเสียจะมีก๊าซแอมโมเนียร์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารที่จะเข้าไปทำลายระบบทางเดินหายใจและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่ในอนาคตเราจะพัฒนาให้นาฬิกามีขนาดเล็กลง พกพาสะดวกและสามารถใส่เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซพิษได้ 2 ชนิด เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการใช้งานได้มากที่สุด
นวัตกรรมไทย ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์ได้ใน 1-2 นาที
ผศ.ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ เมธีวิจัย สกว. สังกัดสำนักวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี เปิดเผยว่า ปัญหาโลกร้อนและการขาดแคลนของน้ำมันจากฟอสซิลทำให้สังคมต้องการพลังงานทางเลือกและยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ปัญหาใหญ่ คือ ยังไม่มีอุปกรณ์กักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงพอที่สามารถเก็บพลังงานไว้ใช้ในตอนกลางคืน หรือช่วงเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์และลม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่และตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวดที่มีประสิทธิภาพสูงจึงได้รับความสนใจและต้องการอย่างมาก
ผศ.ดร.มนตรี กล่าวต่อว่า ตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด มีคุณสมบัติโดดเด่นเหนือกว่าแบตเตอรี่และเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากสามารถประจุและคายพลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพสูง นักวิจัยจึงได้สังเคราะห์วัสดุผสมระหว่างวัสดุนาโนแมงกานีสออกไซด์ และวัสดุโครงข่ายโลหะ-สารอินทรีย์ และวัสดุกราฟีน ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำมาจากกราไฟด์ หรือ ถ่าน ซึ่งเป็นถ่านยูคา หรือข้าวเน่าก็สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นกราฟีนได้ ในส่วนนี้นอกจากจะได้วัสดุจากธรรมชาติแล้ว ยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวเน่า หรือข้าวราคาถูกได้อีกด้วย วัสดุทั้งหมดนี้สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วสามารถกักเก็บพลังงานได้ทันที ทั้งยังจ่ายพลังงานได้อย่างรวดเร็ว อายุการใช้งานยาวนาน สามารถใช้งานได้จริงกับหลอดแอลอีดีและมอเตอร์พัดลมขนาดเล็ก
ผมคาดหวังว่า 5-10 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีแบตเตอรี่ของคนไทยอย่างแท้จริง โดยมีราคาที่ต่ำ เข้าถึงได้ ภายในปีนี้เราจะพัฒนาให้กลายเป็นแบตเตอรี่พกพาชาร์จโทรศัพท์ หรือ พาเวอร์แบงก์ให้ได้ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้เวลาในการชาร์จเพียง 1 – 2 นาทีเท่านั้น และต่อไปในอนาคตอาจเป็นประโยชน์ต่อวงการรถไฟหรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องใช้การชาร์จแบตเตอรี่ สิ่งสำคัญ คือ ความปลอดภัยในการใช้งานจากวัสดุที่เราสังเคราห์ขึ้นมา รับรองถึงความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน
ทั้งนี้นักวิจัยที่ได้รับรางวัลในปีนี้ เป็นนักวิจัยวุฒิเมธีวิจัย สกว.2 คน เมธีวิจัย สกว.2 คน นักวิจัยรุ่นใหม่ 6 คน ได้แก่ ศ. ดร. สุจินต์ บุรีรัตน์ ม. ขอนแก่น งานวิจัยเรื่อง การออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมด้วยวิธีเมต้าฮิวริสติกส์, รศ. ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ ม. มหิดล งานวิจัยเรื่อง การพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีอินทรีย์แบบใหม่ ,รศ. ดร. พญ. อุไรวรรณ พานิช ม. มหิดล งานวิจัยเรื่อง บทบาทของสารต้านออกซิเดชั่นจากธรรมชาติสู่การพัฒนาสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนัง , ดร. มนตรี สว่างพฤกษ์ สถาบันวิทยสิริเมธี งานวิจัยเรื่อง เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิดเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด
ขณะที่ ผศ. ดร. วโรดม เจริญสวรรค์ ม. มหิดล งานวิจัยเรื่อง ชีววิทยาระบบเพื่อความเข้าใจและพัฒนาพืช เพื่อรับมือสภาวะโลกร้อน ,ผศ. ดร. วาสนา ปรัชญาสกุล ม. เชียงใหม่ งานวิจัย เรื่อง ภาวะอ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในเพศหญิง , รศ. ดร. วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร ม. มหิดล งานวิจัย เรื่อง โมเลกุลนาโนไฮบริดสู่นวัตกรรมวัสดุ , ผศ. ดร. ชัชวาล วงศ์ชูสุข ม.เกษตรศาสตร์ งานวิจัยเรื่อง นาโนก๊าซเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อม , ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ม. นเรศวร งานวิจัยเรื่อง การใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน และ ผศ. ดร. พรรัตน์ แสดงหาญ ม. บูรพา ผลงานวิจัยเรื่อง การจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย