วันนี้ (15 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สาเหตุหลักในการเกิดโรคสมาธิสั้นนั้น เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่กระตุ้นให้เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นมีอาการแย่ลง โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เด็กปฐมวัยอ่านออก เขียนได้ หรือการเลี้ยงดูให้เด็กอยู่กับสื่อมีเดียประเภทต่าง ๆ ซึ่งผิดจากธรรมชาติที่เด็กจะต้องได้เล่นอย่างเหมาะสมกับวัย
โดยอาการสมาธิสั้นจะมีในเด็กทุกคนอยู่แล้ว เนื่องจากสมองจะมีสารบางชนิดที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งเด็กบางคนที่มีอาการสมาธิสั้นอาจมีสารดังกล่าวที่พร่องจากเด็กทั่วไป ซึ่งหากผู้ปกครองเลี้ยงดูอย่างผิดๆ และฝืนธรรมชาติของเด็กก็จะทำให้อาการแย่ลง
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นกว่าร้อยละ 50 หรือประมาณ 5 แสนคน จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับคนอื่น และเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วย
ทั้งนี้โรคสมาธิสั้นในเด็กเกิดจากภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ช่วงสมาธิสั้นกว่าปกติ มีความสนใจต่ำ ช่วงซุกซนผิดปกติ และช่วงมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า สถิติเด็กอายุ 6-12 ปี ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บตั้งแต่ปี 2555 พบว่า มีเด็กป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นมากถึง 1 ล้านคน พบในเด็กผู้ชายมากถึงร้อยละ 12 มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่พบร้อยละ 10 โดยอาการสมาธิสั้นส่วนใหญ่พบในเด็กอายุก่อน 7 ปี และจะมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านลบ และติดตัวไปจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออก เช่น การต่อต้านสังคม เกเร ใช้ความรุนแรง รวมถึงเสี่ยงติดยาเสพติด และเกิดภาวะอาการซึมเศร้า
ด้านพญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยติดตามดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น โดยบูรณาการติดตามร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์
โดยแอพพลิเคชั่นตัวนี้ สามารถให้ความรู้เรื่องโรค การประเมินลักษณะอาการเด็กด้วยมาตรฐานของกรมสุขภาพจิต และสามารถติดตามผลความก้าวหน้าของเด็กสมาธิสั้นทั้งการเรียนและพฤติกรรม รวมถึงประเมินความเครียด เพื่อให้ผู้ปกครองและคุณครู สามารถจัดแบบแผนชีวิตประจำวันของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นให้เหมาะสมได้ ซึ่งคาดว่าจะทดลองใช้แอพพลิเคชั่นในเดือน เม.ย. 2561 และจะปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพก่อนขยายผลใช้ทั่วประเทศต่อไป