วันนี้ (18 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานวิจัยเรื่อง Environmental Warming and Feminization of One of the Largest Sea Turtle Populations in the World เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนได้ทำให้ประชากรเต่าตนุ ในเกรท แบรีเออร์ รีฟ กลายเป็นตัวเมีย ร้อยละ 99 แล้ว นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่าสัดส่วนระหว่างเพศที่ผิดปกติเช่นนี้ จะคุกคามประชากรเต่าทะเลในอนาคตอันใกล้
เต่าทะเล เป็นหนึ่งในสัตว์ที่อุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของตัวอ่อน ซึ่งสัดส่วนของเต่าตัวเมียจะสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิของชายหาดที่วางไข่สูงขึ้น ซึ่งงานวิจัยล่าสุดนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง NOAA California State University และ กองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าโลก หรือ WWF ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology โดยได้ศึกษาประชากรเต่าที่มีลักษณะแตกต่างทางพันธุกรรมสองกลุ่มในเกรท แบรีเออร์ รีฟ พบว่า ประชากรเต่าตนุทางตอนเหนือราว 200,000 ตัว ในปัจจุบันเป็นตัวเมียเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยลูกเต่าและเต่าวัยรุ่นทั้งหมดเป็นตัวเมียกว่า ร้อยละ 99 ในขณะที่ตัวเต็มวัยก็เป็นตัวเมียถึง ร้อยละ 87 ในขณะที่ประชากรทางตอนใต้ก็มีสัดส่วนตัวเมียเกือบร้อยละ 70
อุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส เปลี่ยนเพศเต่าตนุ
จากข้อมูลระยะยาวทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า หากอุณหภูมิของหาดทรายต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย โดยประชากรเต่าทะเลทางตอนเหนือของ เกรท แบรีเออร์ รีฟ ขยายพันธุ์ออกมาเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว และเป็นไปได้ว่าประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นตัวเมียทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
Dr Michael Jensen นักวิจัยหลักจาก NOAA กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและค่อนข้างน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจวิกฤติการณ์ที่ประชากรเต่าทะเลกำลังเผชิญอยู่จากภาวะโลกร้อน
Dermot O’Gorman ผู้บริหารของ WWF ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า นี่คือผลกระทบที่ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เราเจอปรากฏการณ์ฟอกขาวอย่างรุนแรงสองปีซ้อน ซึ่งเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดๆ แต่ผลกระทบของโลกร้อนต่อประชากรเต่าทะเลเป็นอะไรที่มองไม่เห็น จนกระทั่งเรามีข้อมูลระยะยาวอย่างงานวิจัยชิ้นนี้ นี่เป็นหลักฐานล่าสุดว่าเราต้องรีบแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน”
ขณะนี้กรมสิ่งแวดแวดล้อมและคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติ ของรัฐควีนส์แลนด์ได้พยายามทดสอบมาตรการต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิของหาดทรายซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เช่น การทำที่บังแดด หรือแม้แต่ฝนเทียม เพื่อลดอุณหภูมิของชายหาด ซึ่งการอนุรักษ์เต่าตัวผู้ตัวเต็มวัยจากภัยคุกคามต่างๆ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะพ่อพันธุ์เต่ากำลังจะกลายเป็นสัตว์หายากที่กำลังจะสูญพันธุ์
ไอยูซีเอ็นไทย แนะเก็บข้อมูลอุณหภูมิชายหาด
นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากการจะเก็บตัวอย่างได้ อาจต้องมีกระบวนการที่ทำให้ลูกเต่าตาย ซึ่งจะแตกต่างจากการเก็บข้อมูลของออสเตรเลีย เพราะเขาเก็บข้อมูลจากแหล่งอาหาร ซึ่งเต่าตนุในออสเตรเลียมีจำนวนมากและอยู่ตามธรรมชาติ แตกต่างจากในประเทศไทยที่มีแหล่งเพาะพันธุ์เต่าตนุขนาดใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ เกาะสิมิลัน จ.พังงา และเกาะคราม จ.ชลบุรี
นายเพชร กล่าวต่อว่า แม้จะยังไม่มีข้อมูลรายงานที่ชัดเจน แต่ดูจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น เชื่อว่าแนวโน้มบ่งชี้ไปในลักษณะเดียวกัน คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ติดตามอุณหภูมิบนชายหาด หากสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็คงต้องมีการวางมาตรการต่อไป