ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กระทรวงการคลัง เตรียมหารือแก้ค่าเงินบาทแข็งตัว

เศรษฐกิจ
22 ม.ค. 61
11:00
604
Logo Thai PBS
กระทรวงการคลัง เตรียมหารือแก้ค่าเงินบาทแข็งตัว
ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มคงแข็งค่าทำให้กระทรวงการคลังสั่งหามาตรการเพิ่ม เพื่อคุมค่าเงินบาทให้อ่อนลง เนื่องจากมีความกังวลว่า หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อ จะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (22 ม.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้กระทรวงการคลัง หามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องอ่อนค่าลง เพื่อไม่ให้กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย


ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เบื้องต้นได้ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ซึ่งทำได้ไม่มาก เพราะปัจจุบันประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย โดยขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าเงินบาทอยู่ ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ผู้ประกอบการก็ต้องมีมาตรการดูแลตัวเอง ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี


ด้านนายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากได้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. อยู่ที่ ร้อยละ 1.50 ซึ่งมีความเหมาะสม ใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่ร้อยละ 1.25 และคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้นในเดือน มี.ค.นี้ และน่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าลดลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงได้


ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ควรมีมาตรการส่งเสริมให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ทำอยู่ปัจจุบัน เพื่อให้เงินที่ไหลเช้าและไหลออกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น


โดยก่อนหน้านี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. เปิดเผยว่า เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นนั้นมาจากหลายสาเหตุ โดยหลักๆ มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปทุกสกุลเงิน รวมทั้งยังมีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย แต่ ธปท.ยังไม่พบความผิดปกติ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และยืนยันว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่กระทบต่อการขยายตัวการส่งออก เนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวได้มาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากค่าเงิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง