วันนี้ (25 ม.ค.2561) พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวด ล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนที่เกินมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีการแจ้งเตือนในระดับสีส้ม เช่น พื้นที่ริมถนนเขตอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน 3 เท่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมทั้งพื้นที่เขตบางนา ปทุมวัน ลาด พร้าว และวังทองหลาง ซึ่งวันนี้แม้จะมีรายงานจากการควบคุมมลพิษว่าค่ามลพิษลดลงแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อ เพราะอากาศเย็นแผ่ลงมาฝุ่นที่สะสมอยู่ยังต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่มีความอ่อนไหวต่อมลพิษ
พญ.ฉันทนา กล่าวอีกว่า กลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่ทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา ผู้ที่สูบบุหรี่จัด เด็กเล็ก หรือคนสูงอายุ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันอาจมีไม่แข็งแรงเท่าคนทั่วๆ ไป ถ้าต้องออกนอกเป็นเวลานานๆ เช่น เกิน 2 – 3 ชั่วโมงไปแล้ว ก็ควรจะต้องใส่หน้ากากที่เรียกว่า N 95 เพราะหน้ากากรุ่นนี้จะมีรูตะแกรงที่สามารถกันฝุ่นขนาด 2.5 ไม่ให้เข้าไปได้ หรือถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องออกจากบ้านในช่วงวันนี้ถึงวันที่ 27 ม.ค.นี้ให้อยู่ในบ้าน
ตอนนี้ข้อมูลที่ออกมามีข้อมูลจากฝุ่นอย่างเดียว แต่ยังไม่มีข้อมูลการเจ็บป่วย ซึ่งโดยทั่วๆ ไป ผลกระทบจากฝุ่นจะเกิดขึ้นภายใน 12- 72 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับฝุ่นแล้ว ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะประสานงานกับสำนักอนามัย กทม. ให้ไปดูสถิติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยตอนนี้ว่า ในช่วง 3-4 วันนี้ มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่ไม่มีไข้ หรือหัวใจขาดเลือด ผื่นผิวหนัง หรือตาแดง เพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในเขตที่มีการตรวจวัดแล้วเกินค่ามาตรฐาน
พญ.ฉันทนา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยใช้ค่ามาตรฐานฝุ่น 2.5 ไมครอน คือ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่างกับองค์การอนามัยโลก ให้ใช้ที่ไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่าของประเทศสูงกว่าถึง 2 เท่า ดังนั้นถ้าให้ปลอดภัยต่อประชาชนมากขึ้น ก็ควรจะพิจารณาปรับลดค่ามาตรฐานลงมา
ทั้งนี้แม้ว่าหากเทียบระดับมลพิษจากฝุ่นในเขตเมืองกรุงเทพมหานครที่เกินมาตรฐานจะยังไม่สูงเท่ากับที่ส่วนประเทศจีน อินเดีย ที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับประมาณ 200 – 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยเกินไป10 เท่า และเกินกว่าประเทศไทย 5 เท่า แต่ประเทศไทยก็ไม่ควรไว้วางใจ เพราะแม้วันนี้เราไม่โดน แต่อนาคตอาจมีการสะสมมากขึ้น หรือเจอฝุ่นที่พกเอาสารเคมีบางตัวที่ก่อมะเร็งด้วย ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ พญ.ฉันทนา กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องออกนอกบ้านและเป็นกลุ่มเสี่ยงมากๆแนะนำเราก็ต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเราเองว่า ในแต่ละวันเราใช้เวลานอกบ้านมากน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่าเราต้องทำงานนอกบ้านตลอดเวลา ในช่วงนี้ที่สภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม ก็ควรจะหาหน้ากากอนามัยที่ความที่เหมาะสมคือต้องเป็น N 95 เพราะขนาดของรูที่กรองอากาศจะเล็กที่สุด คือจะสามารถกันฝุ่นขนาด 2.5 ได้ เพราะรูหน้ากากมีขนาด 0.3 ไมครอน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ต้องออกนอกบ้านบ้าง แต่ไม่ถึง 8 ชั่วโมง ก็ควรจะรีบไปรีบมา ไม่อยู่ข้างนอกนาน กรณีคนที่ไม่มีเงินซื้อหน้ากาก ก็สามารถใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูกก็พอจะช่วยได้ แต่ต้องไม่อยู่นานเกินไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
กรมควบคุมโรคแนะ 8 วิธีดูแลสุขภาพจากฝุ่นขนาดเล็ก
คพ.เตือนลมหนาวระลอกใหม่ ทำภาวะอากาศนิ่งอีกรอบ